WHAT'S NEWS » หัวเว่ย ร่วมกับพันธมิตร 70 ราย เสนอกรอบแนวคิดองค์รวม 5 ประการ ขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์รวมบุคลากรด้านดิจิทัลของอาเซียน

หัวเว่ย ร่วมกับพันธมิตร 70 ราย เสนอกรอบแนวคิดองค์รวม 5 ประการ ขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์รวมบุคลากรด้านดิจิทัลของอาเซียน

7 ธันวาคม 2022
477   0

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันอุดมศึกษาและบรรดาพันธมิตรจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ร่วมหารือเพื่อนำแนวทางมาพัฒนาบุคลากรไอซีที ต่อยอดสู่แผนแม่บทประเทศ ภายในงาน Thailand Talent Transformation Symposium พร้อมเปิดตัวโครงการบ่มเพาะด้านดิจิทัลที่หลากหลายและการแข่งขันสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยกว่า 200 คน ใน ‘ICT Competition 2022’ เพื่อยกระดับอีโคซิสเต็มด้านบุคลากรดิจิทัลในประเทศไทย

ว่าที่ร้อยเอกมนตรี มั่นคง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวเปิดโครงการความร่วมมือ Thailand Talent Transformation Symposium ว่า “ปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนชนบท จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหัวเว่ย ประเทศไทย ในการจัดทำและเผยแพร่สมุดปกขาว “การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย (Thailand National Digital Talent Development)” ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล อันเกิดจากการเร่งขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลแบบก้าวกระโดด ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยภายในปี พ.ศ. 2570 จะมีอัตราการเติบโตของจีดีพีถึง 30% ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีในการพัฒนาบุคลากรไอซีทีให้แก่ประเทศ สอดคล้องกับนโยบายแผนแม่บทการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2565 – 2570) ที่มีเป้าหมายในการเตรียมความพร้อมให้บุคลากรทุกกลุ่มมีความรู้และทักษะที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพในยุคดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมต้องขอขอบคุณหัวเว่ยที่จัดโครงการICT Competition 2022 นี้ขึ้น เพื่อช่วยบ่มเพาะบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีทักษะความสามารถ และเป็นกุญแจสำคัญสู่การสร้างอีโคซิสเต็มในประเทศไทยให้ครอบคลุม สมบูรณ์และยั่งยืน”

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล  รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลส่งผลให้เกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานทักษะดิจิทัล โดยสมุดปกขาวหรือรายงานเชิงลึกระบุว่า ประเทศไทยจะเผชิญกับการขาดแคลนบุคลากรดิจิทัลถึงกว่า 500,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยเฉพาะบุคลากรที่มีทักษะด้าน 5G, IoT, และคลาวด์ ในระดับ 3 (ระดับกลาง) และในระดับ 4 (ระดับสูง) ทางกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จึงมุ่งให้ความสำคัญในการเร่งพัฒนาทักษะและเสริมองค์ความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพและมีทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมีแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรดิจิทัลสำหรับสถาบันการศึกษาไทย ส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษาทั้งด้านหลักสูตรและการปฏิบัติจริง สร้างบุคลากรดิจิทัลให้เพียงพอต่อความต้องการในภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคต ทั้งนี้ หัวเว่ยถือเป็นกำลังสำคัญจากภาคเอกชนในการสนับสนุนการผลิตบุคลากรไอซีที พร้อมมีส่วนช่วยยกระดับนโยบายการพัฒนาบุคลากรไอซีทีสู่แผนแม่บทประเทศ และโครงการการบ่มเพาะบุคลากร ICT Competition 2022 ถือเป็นอีกหนึ่งในโครงการที่ตอบโจทย์การผลักดัน ต่อยอดและเสริมสร้างศักยภาพให้กับบุคลากรไทย”

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการ ฝ่ายเครือข่ายธุรกิจผู้ให้บริการ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “บุคลากรดิจิทัลนับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักสำคัญที่หัวเว่ยลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยวางกรอบและแนวทางในการปฏิบัติสามด้าน เพื่อบ่มเพาะบุคลากรที่มีความสามารถในระดับสูง โดยในระดับสูงสุดนั้น หัวเว่ย อาเซียน อะคาเดมี (Huawei ASEAN Academy) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2562 นั้นได้ฝึกอบรมบุคลากรไอซีทีไปแล้วกว่า 60,000 คน และธุรกิจ SMEs ไปแล้ว 2,600 ราย เพื่อสร้างผลกระทบในเชิงลึกและยิ่งใหญ่ขึ้น หัวเว่ยจึงได้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยแพร่สมุดปกขาว “การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย” พร้อมระบุความท้าทายหลัก 11 ด้าน และข้อแนะนำด้านนโยบาย 5 ประการ โดยหัวเว่ยมุ่งที่ 3 แนวทางหลักในการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย ความเป็นผู้นำ ทักษะ และองค์ความรู้”

“สำหรับด้านองค์ความรู้นั้น หัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 37 แห่งของประเทศไทย โดยไทยเป็นประเทศแรกที่ดำเนินโครงการ Seeds for the Future อันถือเป็นโครงการเรือธงเพื่อสังคมของหัวเว่ย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยมีนักเรียนไทยที่มีความสามารถเข้าร่วมแล้วกว่า 220 คน และภายใต้อีโคซิสเต็มนี้ โครงการ ICT Competition โครงการเรือธงระดับโลกของหัวเว่ยที่ได้เปิดตัวไปเมื่อปี พ.ศ. 2558 ได้สร้างประโยชน์ให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยไปแล้วกว่า 1,000 คน และในปีนี้ เราตั้งเป้าที่จะเสริมสร้างความรู้ด้านไอซีทีที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ให้แก่เยาวชนที่มีความรู้ความสามารถอีกกว่า 200 คน ตอกย้ำพันธกิจของหัวเว่ยที่ว่า เติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย สนับสนุนประเทศไทย (Grow in Thailand, Contribute to Thailand)” นายอาเบลกล่าว

นอกจากนี้ สมุดปกขาว “การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย” ที่จัดทำร่วมกับ โรแลนด์ เบอร์เกอร์ (Roland Berger) บริษัทผู้ให้คำปรึกษาด้านการจัดการระดับโลก ได้ระบุถึงกรอบแนวคิดองค์รวม 5 ประการ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านบุคลากรไอซีที โดยจะมาจากการผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย 1) การจัดทำนโยบาย การปรับมาตรฐาน และการติดตามการดำเนินการ 2) การพัฒนาทักษะ 3) การสร้างอาชีพและการหางานเพื่อรองรับบุคลากร 4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ 5) การระดมทุนและสนับสนุนเงินทุน

Diagram

Description automatically generatedสำหรับโครงการICT Competition 2022 เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านไอซีที การฝึกทักษะในการปฏิบัติจริง และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทั่วโลก ในการสร้างนวัตกรรมผ่านเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับการศึกษาและสร้างทักษะบุคลากรรุ่นใหม่ โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2565 จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ทั้งนี้ ทีมผู้ชนะจากการแข่งขันจะได้รับรางวัลรวมมูลค่ากว่า 300,000 บาท  

หัวเว่ย ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ริเริ่มโครงการหัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี (ประเทศไทย) และได้ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำในประเทศอีก 37 แห่ง ในการสร้างบุคลากรไอซีทีในประเทศไปแล้วกว่า 26,000 คน และตั้งเป้าที่จะฝึกอบรมบุคลากรดิจิทัลสัญชาติไทยเพิ่มขึ้นอีกกว่า 10,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2566 รวมทั้งจะสามารถร่างข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในสมุดปกขาวอันจะนำไปสู่การริเริ่มการสร้างบุคลากรที่มีความหลากหลายด้านทักษะในอีโคซิสเต็ม และจะเดินกลยุทธ์ในการร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างเวทีที่เปิดกว้างและสร้างโอกาสใหม่ ๆ อย่างมั่นคง ซึ่งท้ายที่สุดจะสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่ทุกคน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อสร้างโลกอัจฉริยะที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างสมบูรณ์แบบ