ไม่มีหมวดหมู่ » ครั้งแรก sacit ยกคราฟต์ไทยเสิร์ฟนักท่องเที่ยวพัทยา กระตุ้นตลาดหัตถศิลป์ไทยสู่สากลใน “เพลินคราฟต์ 2023”

ครั้งแรก sacit ยกคราฟต์ไทยเสิร์ฟนักท่องเที่ยวพัทยา กระตุ้นตลาดหัตถศิลป์ไทยสู่สากลใน “เพลินคราฟต์ 2023”

3 กรกฎาคม 2023
169   0

sacit สานต่อความสำเร็จคราฟต์ไทยใครๆ ก็ชอบ เดินหน้าจัด “sacit เพลินคราฟต์ 2023” ครั้งที่ 3 บุกศูนย์การค้าเซ็นทรัลพัทยา ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-6 กรกฎาคมนี้ หวังเปิดโอกาสการค้าแก่ผู้ประกอบการ เปิดตลาดใหม่สู่กลุ่มนักท่องเที่ยวแถบตะวันออก ประสบความสำเร็จหลังยอดขาย 3 วันแรกทะลุ 2 ล้านบาท


นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หรือ sacit เปิดเผยว่า จากความสำเร็จของการจัดงาน “sacit เพลินคราฟต์ 2023” ครั้งที่ 1 และ 2 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงใหม่แอร์พอร์ต และศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 2 ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยพบว่ามีผู้เข้าชมงานรวม 2 ครั้ง จำนวนกว่า 2 หมื่นคน อีกทั้งยังสร้างยอดขายให้กับผู้ประกอบการสะสมจำนวนกว่า 10 ล้านบาท ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่มีส่วนกระตุ้นกำลังซื้อ และก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ


นอกจากนี้ นับเป็นอีกหนึ่งเวทีในการเผยแพร่ และสร้างการรับรู้ในผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเพื่อสานต่อความสำเร็จ และส่งเสริมผู้สร้างสรรค์งานหัตกรรมไทยให้เข้มแข็ง และมีรายได้ sacit จึงจัดงาน “sacit เพลินคราฟต์ 2023” ครั้งที่ 3 วันที่ 30 มิถุนายน-6 กรกฎาคม 2566 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพัทยา ภายใต้แนวคิด Craft at First Crush คราฟต์ไทยใครๆ ก็ชอบ เพื่อถ่ายทอดถึงความรู้สึกของการตกหลุมรักในงานคราฟต์ ความรักในสิ่งที่ทำ สู่การต่อยอดไอเดียผลิตงานคราฟต์ใหม่ๆ และผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์หัตถกรรมไทยที่ประณีต เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเติบโตได้อย่างยั่งยืน


นายภาวี กล่าวด้วยว่า นักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติที่เข้าร่วมกิจกรรมและเลือกซื้อสินค้าภายในงานขณะนี้สะสมรวมกว่า 3 พันคน สร้างเงินสะพัดภายในงานแล้วกว่า 2 ล้านบาท (ยอดขายระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2566) ซึ่งตลอด 3 วันแรกของการจัดงาน พบว่ามีนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ โดยฉพาะจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และยุโรป เลือกซื้อสินค้าภายในงานเพื่อเป็นของฝากของขวัญ อีกทั้งยังเห็นเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นในกลุ่มนักท่องเที่ยว มีการถ่ายทอดสด (Live) ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ จำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มผู้คนที่รักงานคราฟต์ไทย แต่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานดังกล่าวได้


สำหรับกิจกรรมภายในงานได้รวบรวมงานคราฟต์ร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น น่าสนใจ และเข้ากับวิถีชีวิตคนเมืองมาร่วมจัดแสดงและจำหน่าย รวมถึงผลิตภัณฑ์เทรนด์รักษ์โลก โดยล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผสมผสานระหว่างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ จากฝีมือของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และสมาชิก sacit รวมกว่า 40 ร้านค้า อาทิ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ผ้าไหม ผ้าฝ้าย งานเครื่องประดับ งานเครื่องปั้นดินเผา งานจักสาน และของใช้ของตกแต่งบ้านจากงานไม้


อีกทั้งภายในงานยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ชื่นชอบงานคราฟต์ ได้สัมผัสงานศิลปหัตถกรรมผ่านการลงมือทำ (Workshop) ทั้งในแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย DIY Your Style พร้อมสามารถรับงานฝีมือในสไตล์ของตนเองกลับบ้านได้เลย อาทิ เพ้นท์สีวาฬบลูด้า, เพ้นท์ตุ๊กตาดินเผาจิ๋ว, เพ้นท์แก้วผีตาโขน, พิมพ์ลายงานเซรามิก, ทำขาตั้งกระถางต้นไม้จิ๋ว เป็นต้น ซึ่งเป็นกิจกรรมไฮไลต์ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ผู้เข้าชมงานยังสามารถเพลิดเพลินไปกับการแสดงและกิจกรรมบนเวทีจากศิลปินดาราชื่อดังมาร่วมสร้างความบันเทิงครบรส พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตกหลุมรักงานคราฟต์ด้วย


นายภาวี ยังกล่าวด้วยว่า sacit คาดหวังว่าการจัดงานในครั้งนี้ จะสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยว สร้างประสบการณ์ชอปปิ้งให้กับนักท่องเที่ยว ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ทั้งนี้ จะมีการจัดงาน sacit คราฟต์ ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ระหว่างวันที่ 24 – 30 กรกฎาคม ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยคาดการณ์ว่าตลอดการจัดงานทั้ง 4 ครั้ง จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้รักงานคราฟต์ทั้งชาวไทย และต่างประเทศเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 15,000 คน และสร้างเงินสะพัดภายในงานไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาท และสิ่งสำคัญจะสามารถตอกย้ำให้หัตถกรรมไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนจากการสืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมผลงานให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดรับต่อไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ในทุกยุคสมัย แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของงานคราฟต์ไทยที่ใครๆ ก็ชอบ


sacit ขอเชิญชวนคนรักงานคราฟต์ มาร่วมเปิดประสบการณ์สัมผัสงานคราฟต์ไทยที่ใครๆ ก็ชอบ ภายในงาน “sacit เพลินคราฟต์ 2023” ครั้งที่ 3 ที่เซ็นทรัลพัทยา และ ครั้งที่ 4 ที่เซ็นทรัลเวิลด์ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1289 หรือ Facebook : สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย