วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2567 ณ ห้องทรูแลป (True LAB) ตึก 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกระทรวงสาธารณสุข จัดงานแถลงข่าวลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการยกระดับการดูแลสุขภาพจิตผ่านการนำนวัตกรรมดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ Mindful Hub มาใช้เป็นแนวทางในการดูแลนิสิตนักศึกษาแพทย์
ภายในงานดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ผศ.ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง รองคณบดีฝ่ายบริหาร รักษาการแทนคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและนิติการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินทางมาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ พร้อมกับร่วมรับฟังเสวนาเกี่ยวกับ “ปัญหาสุขภาพจิตกับแนวทางการดูแลนิสิตนักศึกษา”
โดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในยุคดิจิทัลที่โลกหมุนเร็วขึ้น ความกดดันก็มากขึ้น นิสิตแพทย์ คือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ ดังนั้นการดูแลสุขภาพจิต จึงมิใช่เพียงเรื่องของการรักษา แต่เป็นเรื่องของการป้องกันและการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จึงร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในการพัฒนา Mindful Hub ขึ้นมา โดยผสานจุดแข็งของทั้งสององค์กรด้วยการนำความเชี่ยวชาญทางการแพทย์มาพัฒนาร่วมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสร้างช่องทางการเข้าถึงบริการด้านการดูแลสุขภาพจิตให้กับนิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า แม้ 1 ใน 3 ของนักศึกษาทั่วโลกจะประสบปัญหาสุขภาพจิต แต่มีเพียงร้อยละ 40 ที่กล้าเข้าถึงบริการ โดยอุปสรรคสำคัญคือความกลัวการถูกตีตราจากสังคม
ดังนั้นการลงนามความร่วมมือ ฯ ครั้งนี้ จึงเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า “การดูแลสุขภาพจิตของนิสิตนักศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการใส่ใจอย่างจริงจัง” รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ กล่าว
ผศ.ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง รองคณบดีฝ่ายบริหารรักษาการแทนคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมถึง การเข้าร่วมงานบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพจิตผ่านการนำนวัตกรรมดิจิทัล Mindful Hub ว่า เนื่องจากสุขภาพจิตกำลังเป็นประเด็นที่ทวีความสำคัญเป็นอย่างมากในสังคมที่เกิดขึ้นกับคนทุกช่วงวัย
ที่ผ่านมา ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงได้ร่วมมือกับทางคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดทำโครงการศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ด้านจิตเวช หรือ AIMET เพื่อใช้ในการสนับสนุนบริการทางแพทย์ในด้านจิตเวช ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์
ขณะที่ Mindful Hub จะเป็นระบบช่วยดูแลให้นิสิต นักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักศึกษาแพทย์ ได้เข้าถึงบริการและความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต อย่างเป็นความลับ ปัจจุบัน Mindful Hub ได้เริ่มทดลองใช้กับคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นรุ่นแรก และมีการขยายผลการใช้งานไปยังนักศึกษาแพทย์ของโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) ในกลางปี 2568 นี้
อาจารย์นายแพทย์อติคุณ ธนกิจ ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายกิจการนิสิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีนโยบายดูแลสุขภาพจิตของนิสิตแพทย์ตลอดระยะเวลาการศึกษา เพื่อให้นิสิตได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และสามารถผ่านการศึกษาในหลักสูตรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจารย์ 1 คน ดูแลนิสิต 6 คน
ส่วนด้านสุขภาพจิต ภายใต้โครงการ “MDCU Let’s Talk” ฝ่ายกิจการนิสิตได้พัฒนาช่องทางสื่อสารออนไลน์ คือ Line OA ขึ้นมา เพื่อให้นิสิตสามารถเข้าถึงระบบการนัดหมายปรึกษากับนักจิตวิทยา ได้อย่างสะดวกสบาย รวดเร็ว และปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของนิสิต พร้อมทั้งมีระบบและช่องทางการประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่าง ๆ ให้กับนิสิต
ผศ.บุรชัย อัศวทวีบุญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ให้นักศึกษาทุกคนเข้าถึงช่องทางในการรับบริการ ผ่านการประเมินภาวะสุขภาพจิต อย่างน้อยคนละครั้งต่อภาคการศึกษา รวมถึงการขอรับบริการปรึกษาทางจิตใจ มีการนำระบบคัดกรองของ Dmind ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่นำมาผนวกเข้ากับระบบให้บริการสุขภาพจิตของมหาวิทยาลัย และได้พัฒนาระบบให้สามารถขอรับบริการผ่าน application ของนักศึกษา ที่ชื่อว่า TU greats ด้วยวิธีการนำแอปพลิเคชัน TU wellness ที่ได้รับการสนับสนุนจากสสส. มาเชื่อมแบบ single sign-on และนำ Dmind เข้าไปเป็นระบบคัดกรองด้านสุขภาพจิต ร่วมกับระบบอื่น ๆ เช่น การจองคิวเพื่อขอรับบริการ และประชาสัมพันธ์กิจกรรมด้านสุขภาพจิตต่าง ๆ
ขณะที่ นายกิตติพศ แสงสาย ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม Mindful hub กล่าวถึง แนวคิดและความตั้งใจของการนำนวัตกรรมดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ Mindful Hub มาใช้เป็นแนวทางในการดูแลนิสิตนักศึกษาในครั้งนี้ ว่าอยากมีส่วนเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพจิตให้กับนักเรียนแพทย์ ซึ่งต้องเจอกับสภาพแรงกดดันจากงานที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบที่สูงมาก รวมถึงต้องเผชิญกับความคาดหวังทั้งจากคนไข้ อาจารย์ และคนรอบข้าง
ดังนั้นการที่ผมได้เข้ามาทำงานตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมเข้าใจถึงความต้องการของนักเรียนแพทย์ ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างนวัตกรรมดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ Mindful Hub สามารถช่วยให้บริการด้านสุขภาพจิตของน้อง ๆ นักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น