WHAT'S NEWS » กสศ. จับมือ 11 หน่วยงาน เร่งสร้าง ‘Learning City ส่งเสริมระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต’ หวังปั้น ‘กรุงเทพฯ’ คว้า Learning City Award เป็นพื้นที่แรกภายใน 2 ปี

กสศ. จับมือ 11 หน่วยงาน เร่งสร้าง ‘Learning City ส่งเสริมระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต’ หวังปั้น ‘กรุงเทพฯ’ คว้า Learning City Award เป็นพื้นที่แรกภายใน 2 ปี

25 เมษายน 2023
366   0

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวที “Learning City ร่วมก้าวไปสู่เมืองเเห่งการเรียนรู้” โดยระดมความร่วมมือจากหน่วยงานในภาคีต่างๆ กว่า 11 หน่วยงาน เพื่อร่วมขับเคลื่อนสู่เมืองเเห่งการเรียนรู้ รวมถึงการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นการจัดทำ Learning City ของไทยอย่างไรให้ตอบโจทย์ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิตของคน 

นายพัฒนะ พงษ์สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การสร้างระบบนิเวศขนาดใหญ่อย่างเมืองแห่งการเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งจะทำได้ตามลำพัง กสศ. จึงให้ความสำคัญกับการมีภาคีเครือข่าย เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนไปสู่สังคมที่มีความเสมอภาคได้จริง 

สำหรับเวที ‘Learning City ร่วมก้าวไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้’ คือเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้น โดยการใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีช่วยกันพัฒนาเมืองอย่างเป็นรูปธรรมของการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่าย เพราะการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา หรือแม้แต่กลุ่มที่ยากจนพิเศษ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน 

อย่างไรก็ตาม มองว่าปลายทางของการกระจายอำนาจด้านการศึกษา คือการทำให้แต่ละพื้นที่มีอิสระในการจัดการศึกษาหรือดูแลคนของตัวเอง แต่ปัจจุบันการกระจายอำนาจทางการศึกษาในประเทศไทยยังไม่เกิดขึ้น ซึ่ง กสศ. ยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำต่อไป โดยเชื่อว่าถ้าได้ทดลองทำภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดแบบนี้ เมื่อถึงวันที่โอกาสเปิดหรือการกระจายอำนาจเกิดขึ้นจริง ความพยายามเหล่านี้จะกลายเป็นต้นทุนในการทำงานที่แข็งแรงขึ้น

ปั้นกรุงเทพฯคว้า Learning City Award ใน 2 ปี

ผู้ช่วยผู้จัดการกสศ. กล่าวต่อว่า สำหรับเป้าหมายที่ กสศ. มุ่งหวังมี 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่ 1 การทำให้เจ้าของพื้นที่หรือคนในชุมชนมีความตระหนักรู้ในการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ร่วมกันพัฒนาพื้นที่นั้น ซึ่งการใช้ Learning City เข้ามาช่วยให้เกิดกระบวนการและระบบนิเวศน์การเรียนรู้ในชุมชน กสศ. ต้องการแก้โจทย์เรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา หรือแม้แต่เด็กเยาวชนที่มีความยากจนพิเศษ แต่เครื่องมือเหล่าแก้ปัญหาเหล่านี้อยู่ในหลายหน่วยงาน เพราะฉะนั้นเครือข่ายเป็นสิ่งสำคัญ

สำหรับเป้าหมายที่ 2 คือ กสศ. คาดหวังให้หน่วยงานต่างๆ ทำงานร่วมกับชุมชนในกรุงเทพฯ เนื่องจากกรุงเทพฯ ยังคงมีพื้นที่ของความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาค่อนข้างเห็นได้ชัดเจน หาก Learning City สามารถเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ได้ ซึ่งภายหลังจาก 2 ปีผ่านไป มีความเป็นไปได้มากที่กรุงเทพฯ จะได้รับ Learning City Award ซึ่งจะส่งผลให้ Learning City ของไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และเป็นเมืองต้นแบบให้เกิดความยอมรับในการทำ Learning City ในเมืองอื่นๆ ของไทย และเป็นการเปิดประตูไปสู่เวทีโลก

อีกทั้ง กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความท้าทายสูงในการทำ Learning City เพราะเป็นเมืองขนาดใหญ่ หากจะทำให้ทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ เป็น Learning City ทั้งหมด อาจใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน แต่หากใช้วิธีการเริ่มต้นทำในบางพื้นที่เพื่อให้ได้รับ Learning City Award ในระยะเวลา 2 ปี จะมีความเป็นไปได้มากกว่า โดย กสศ. จะใช้วิธีทำงานร่วมกับเครือข่ายในชุมชนต่างๆ เพื่อออกแบบลักษณะการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดยให้คนในชุมชนเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมและเกิดความเข้าใจ เรียนรู้ได้ด้วยตนเองและพร้อมเสนอความคิดเห็นในการร่วมกันพัฒนาชุมชน

ด้าน นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จุดแข็งของกรุงเทพฯ คือการมีโรงเรียนในสังกัดจำนวนมาก โดยเปิดรับนักเรียนทุกกลุ่ม ไม่เว้นกระทั่งนักเรียนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชายขอบ โรงเรียนจึงเป็นพื้นที่เริ่มต้นที่สำคัญในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ที่ผ่านมา กทม. มีการอุดหนุนอาหาร ชุดนักเรียน ตลอดจนการเรียนฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสวัสดิการเบื้องต้นจากโรงเรียนเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ปกครองของนักเรียนประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ด้วย

ทั้งนี้กรุงเทพฯ มีเครือข่ายมากมาย ซึ่งต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ลงมือทำเป็นผู้ประสานงานที่ดี เพื่อให้ได้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมถึงสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ โดยไม่ต้องรองบประมาณ ไม่ต้องแก้ระเบียบ เพียงแต่ต้องดึงความร่วมมือจากหลายภาคส่วนมาเป็นจุดเปลี่ยนในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสให้ประชาชน อีกทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ วันนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกแก้ไขแล้วในสิงคโปร์ ยุโรป หรืออเมริกา สิ่งสำคัญก็คือการเรียนรู้ระหว่างกัน เพราะเมืองแห่งการเรียนรู้คือการสร้างเครือข่ายระหว่างเมือง

อย่างไรก็ตาม มองว่าการกระจายอำนาจจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้เป็นอย่างดี เพราะคนที่จะแก้ไขปัญหาได้ คือคนที่กำลังประสบปัญหานั้นอยู่ และควรได้รับการเสริมพลังเพื่อให้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง หากแต่ละท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเอง ก็จะเกิดโมเดลแก้ปัญหาที่หลากหลายขึ้น เมืองแต่ละเมืองจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

“การกระจายอำนาจคือบันไดขั้นที่หนึ่ง บันไดขั้นที่สองคือการถ่ายทอดองค์ความรู้ การเชื่อมโยงความสำเร็จจากที่อื่น เรียนรู้ระหว่างเมืองต่อเมือง ไม่จำเป็นที่ต้องสร้างสิ่งใหม่ เราอาจจะยืนบนไหล่ยักษ์ ไปร่วมมือกับคนที่เก่งแล้วก็ได้“ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว

ท้องถิ่นร่วมสร้างคนสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้

ศาสตราจารย์ วุฒิ สารตันไชย รองประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาเมือง มีแกนหลักสำคัญใน 4 เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่ 1.การศึกษาคือกลไกสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ และเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคน รวมถึงเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการวางรากฐานของประเทศ เรื่องที่ 2. การศึกษายังคงมีปัญหาและความเหลื่อมล้ำอยู่จริง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้เข้าถึงคนในทุกระดับและให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง แต่ในข้อเท็จจริงคุรภาพของการศึกษาไม่เท่ากัน ซึ่งความเหลื่อมล้ำของการศึกษาจึงมี 2 ส่วนคือ คุณภาพการศึกษาและโอกาสทางการศึกษา เรื่องที่ 3. หากต้องการแก้ปัญหาทางความเหลื่อมล้ำของการศึกษาจำเป็นต้องแก้ไขใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1. การสร้างโอกาสและส่งเสริมการใช้โอกาสของคนแต่ละช่วงวัยที่กำลังเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งรวมถึงระบบการศึกษานอกโรงเรียนที่เป็นการศึกษาตลอดชีวิต และ 2.การสร้างระบบการศึกษาที่ดี ซึ่งจะต้องทำในส่วนของสถานศึกษาและการสร้างระบบนิเวศน์ทางการศึกษา และเรื่องที่ 4. การแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาต้องแก้ไขตามลักษณะของแต่ละชุมชน เนื่องจากมีปัจจัยของปัญหาที่ต่างกัน ดังนั้นจำเป็นต้องให้หน่วยงานในท้องถิ่นและคนในพื้นที่ร่วมกันแก้ไข ทำอย่างไรให้คนในพื้นที่มีความอยากเรียนรู้และต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

แนวคิดเมืองคือฐานการเรียนรู้ตลอดชีวิต

นางสาว ดุริยา อมตวิวัฒน์  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต โดยมีหลายกลุ่มเครือข่ายที่พยายามขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ลักษณะนี้ในชุมชน โดยเป็นแนวคิดการใช้เมืองเป็นฐานแห่งการเรียนรู้เนื่องจากแต่ละเมืองมีความแตกต่างอย่างหลากหลาย ดังนั้นเบื้องต้นจึงจำเป็นจะต้องมีแผนดำเนินการที่เป็นแนวทางเดียวกันเพื่อสร้างเป้าหมายการเป็น Learning City เช่น จำเป็นต้องมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ทุกวัย เป็นต้น แต่รายละเอียดของการสร้างการเรียนรู้จะแตกต่างกันในแต่ละความขาดแคลนความรู้ของแต่ละพื้นที่หรือชุมชนนั้นๆ 

ทั้งนี้ มีการเปิดรับสมัครเมืองที่สนใจเข้าร่วม Learning City แล้ว เมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมา โดยจะเปิดรับสมัครถึง 31 พฤษภาคม 2566 โดยเมืองที่สนใจสามารถกรอกใบสมัครและจัดส่งไปที่สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายน คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ จะดำเนิการพิจารณาใบสมัครเพื่อคัดเลือกเมืองที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจำนวนไม่เกิน 3 เมือง เพื่อเสนอไปยังสถาบันเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโกพิจารณาครั้งสุดท้าย และในเดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป สถาบันฯ จะดำเนินการพิจารณาใบสมัครที่ได้รับการเสนอชื่อจากสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโก และในเดือนตุลาคมจะประกาศเมืองที่ได้เป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก

นางสาว โศวิรินทร์ ชวนประพันธ์ เจ้าหน้าที่โครงการ กลุ่มงานการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและการพัฒนาทักษะ (EISD) สํานักงานยูเนสโกเพื่อการศึกษาส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (องค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ) กล่าวว่า สำหรับตัวอย่างเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ได้เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกที่น่าสน เช่น เมืองฌฉิงตูของจีน ที่ได้รับ Learning City Award 2019 ด้านการวางแผนและกลยุทธ์ (Planning and strategies) เนื่องจากเป็นเมืองที่มีกันช่วยกันวางแผนยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเมืองเฉิงตู มีพื้นที่เฉพาะในการให้การเรียนรู้และมีการกระจายความรู้ทั่วทุกมุมเมือง ทั้งในตัวเมืองใหญ่และพื้นที่ชนบทของเฉิงตู รวมถึงสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่รวมถึงสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ทำคนรักการเรียนรู้จนเป็นนิสัย รวมถึงเปิดกว้างองค์ความรู้ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย 

Learning City ในไทยต้องทำอย่างไร

นอกจากนี้ในการเปิดเวทีระดมความร่วมมือเพื่อจัดทำ Learning City ครั้งนี้ มีการเปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใน 2 คือ เวทีสร้างแรงบันดาลใจ หัวข้อ “การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยกระบวนการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้” และเวทีชวนคิดชวนคุย หัวข้อ  “How Might We…เราจะทำอย่างไรให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้” 

นาย ศานนท์หวังสร้างบุญ  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า Learning City เป็นสิ่งที่จำเป็นเนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน สิ่งที่เคยเรียรรู้ในวันนี้ พรุ่งนี้อาจเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นการสร้างการเรียนรู้ตลอดเวลาจะช่วยให้ทุกคนในเมืองรักการเรียนรู้และสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ โดย Learning City คือการนำความรู้ที่มีอยู่มากมายมาปรับใช้ให้เข้ากับความต้องการของคนในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งคนในแต่ละพื้นที่ต้องการความรู้ต่างกัน

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรมรองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในชุมชน หรือพื้นที่นั้นๆ เป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิด Learning City ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีหลายเครือข่ายในเมืองต่างๆ ของไทยสร้างการเรียนรู้ในระดับท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเชื่อมั่นว่ากระบวนการเรียนรู้คือพื้นฐานแรกของการยกระดับคุณภาพชีวิต โดยคนในชุมชนจะต้องเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันความต้องการของชุมชนออกมาให้เครือข่ายได้รู้และเข้าช่วยสร้างระบบนิเวศน์แห่งการเรียนรู้จนเกิดเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ผณิน ทราธีรานนท์ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า สำหรับพื้นที่พะเยา สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นในการสร้างการเรียนรู้ที่ผ่านมาคือ ผู้คนในพื้นที่เปิดรับความรู้ใหม่ๆ ได้ง่ายและให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่างๆ 

ขณะที่นาย ทวา รัฐสูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) กล่าวว่า การสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต จะต้องสร้างการเรียนรู้โดยใช้ความต้องการของพื้นที่เป็นฐาน ซึ่งการมีพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้คนในชุมชนได้เข้าเรียนรู้จะช่วยให้เกิดระบบนิเวศน์ของความต้องการเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งการรับรู้ไม่จำเป็นต้องผ่านการอ่านเท่านั้น สามารถเรียนรู้ได้จากการแลกเปลี่ยนพูดคุย ผ่านเครื่องดนตรี เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายของการสร้าง Learning City คือ การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้พัฒนาแหล่งเรียนรู้หรือองค์ความรู้ให้ก้าวทันสถานการณ์และเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต และส่งเสริมให้เกิดการนำความรู้ไปต่อยอดเพื่อสร้างรายได้และเกิดกิจกรรมที่ยกระดับคุณภาพชีวิต