ไม่มีหมวดหมู่ » หัวเว่ย คอนเนกต์ ประจำปี พ.ศ. 2566 (Huawei Connect 2023): เร่งสร้างโลกอัจฉริยะเพื่อความสำเร็จร่วมกัน

หัวเว่ย คอนเนกต์ ประจำปี พ.ศ. 2566 (Huawei Connect 2023): เร่งสร้างโลกอัจฉริยะเพื่อความสำเร็จร่วมกัน

24 กันยายน 2023
215   0

หัวเว่ย คอนเนกต์ ประจำปี พ.ศ. 2566 (Huawei Connect 2023) ได้เปิดงานในนครเซี่ยงไฮ้แล้ววันนี้ โดยมีนักธุรกิจชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี คู่ค้า นักพัฒนา และผู้มีส่วนได้เสียภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ จากทั่วโลก เข้าร่วมงานเพื่อหาโอกาสใหม่สำหรับโลกอัจฉริยะในอนาคต

ภายในงาน นางสาวซาบรีนา เมิ่ง รองประธาน ประธานกรรมการหมุนเวียนตามวาระ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของหัวเว่ย ได้ประกาศกลยุทธ์อัจฉริยะครบวงจร หรือ All Intelligence และย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการเจาะลึกเทคโนโลยีเอไอขั้นพื้นฐาน และสร้างโครงสร้างพื้นฐานคอมพิวเตอร์อันแข็งแกร่งสำหรับประเทศจีน – เพื่อเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับทั่วโลก – เพื่อรองรับเทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่นเอไอหลากหลายรูปแบบสำหรับทุกอุตสาหกรรม

ซาบรีนา เมิ่ง รองประธาน ประธานบริษัทตามวาระ และประธานเจ้าหน้าที่การเงินของหัวเว่ย กล่าวสุนทรพจน์ในงานหัวเว่ย คอนเนกต์ ประจำปี พ.ศ. 2566 (Huawei Connect 2023)

นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้เปิดตัวสถาปัตยกรรมอ้างอิงเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่โลกอัจฉริยะ ตลอดจนผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่เกี่ยวข้องอีกมากมายภายในงาน โดยรายละเอียดของสถาปัตยกรรมอ้างอิงที่ได้เปิดตัวภายในงาน ได้ถูกรวมอยู่ในสมุดปกขาวฉบับล่าสุด ในหัวข้อ การเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่โลกอัจฉริยะ (Accelerating Intelligent Transformation) ซึ่งให้คำแนะนำในเชิงปฏิบัติและประกอบด้วยข้อมูลอ้างอิงต่าง ๆ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้

กลยุทธ์อัจฉริยะครบวงจรของหัวเว่ย (Huawei’s All Intelligence Strategy)

กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อผลักดันเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น เริ่มจากกลยุทธ์ All IP เพื่อรองรับการใช้ข้อมูลสารสนเทศ ตามด้วยกลยุทธ์ All Cloud เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล (Digitalization)  ขณะที่ปัญญาประดิษฐ์ได้รับความสนใจมากขึ้น กอปรกับผลกระทบที่เพิ่มขึ้นต่อภาคอุตสาหกรรม กลยุทธ์อัจฉริยะครบวงจร (All Intelligence) ของหัวเว่ยจึงถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ทุกอุตสาหกรรมได้ประโยชน์สูงสุดจากโอกาสเชิงกลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับเอไอ

กุญแจสำคัญของกลยุทธ์นี้อยู่ที่การผนึกกำลังกันของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในปริมาณมหาศาล อันจำเป็นสำหรับการสร้างความเข้าใจและความรู้ในการใช้งานโมเดลพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ  “หัวเว่ยมุ่งมั่นในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานคอมพิวเตอร์ที่แข็งแกร่งสำหรับประเทศจีน – เพื่อเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับทั่วโลก” ดังที่คุณเมิ่งได้กล่าวไว้  “เรายังคงเสริมสร้างการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ชิป (chips) เทคโนโลยีเอดจ์ (edge) เครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ และเทคโนโลยีคลาวด์ (cloud) เพื่อเป็นรากฐานที่สมบูรณ์สำหรับระบบนิเวศแห่งอนาคต  เป้าหมายสุดท้ายของเราคือการตอบสนองความต้องการคอมพิวเตอร์เอไอหลากหลายรูปแบบสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ”

คุณเมิ่งยังกล่าวถึงก้าวต่อไปของหัวเว่ยด้วยว่า “หัวเว่ยจะเดินหน้าเจาะลึกต่อยอดด้านผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่เรามีความเป็นเลิศ และทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้า คู่ค้า นักพัฒนา และผู้มีส่วนได้เสียอื่นเพื่อสร้างสรรค์โซลูชันทางอุตสาหกรรมที่ล้ำสมัยและใช้งานง่าย  โดยการทำงานร่วมกัน เราจะสามารถช่วยเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยและความน่าเชื่อถือทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น ตลอดจนเร่งสร้างโลกอัจฉริยะให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม”

ในช่วงท้าย คุณเมิ่งยังย้ำด้วยว่า “ความสามารถนำมาซึ่งความมั่นใจ และอนาคตคือสิ่งที่เราต้องร่วมกันสร้าง”  เพื่อให้โลกอัจฉริยะในอนาคตสัมฤทธิ์ผลขึ้นได้: “สามัคคีคือพลัง ความพยายามย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จ”

เร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกอัจฉริยะสำหรับทุกอุตสาหกรรม

หลังจากคุณเมิ่งกล่าวจบ เดวิด หวัง กรรมการบริหารและประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์และโซลูชันไอซี และประธานกลุ่มธุรกิจพาร์ทเนอร์ (Enterprise BG) ของหัวเว่ย ได้ประกาศเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ของหัวเว่ย ได้แก่ Atlas 900 SuperCluster ซึ่งเป็นคลัสเตอร์การคำนวณเอไอรุ่นใหม่ล่าสุดในผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ซีรีส์ แอสเซนด์ (Ascend series) ของหัวเว่ย ใช้สถาปัตยกรรมใหม่ล่าสุดที่ถูกปรับแต่งให้เหมาะสมสำหรับการสร้างการเรียนรู้ให้กับโมเดลพื้นฐานเอไอขนาดใหญ่ที่มีพารามิเตอร์กว่าหนึ่งล้านล้านพารามิเตอร์  Atlas 900 SuperCluster นี้มาพร้อมกับชุดสวิตช์ Xinghe Network CloudEngine XH16800 อันทันสมัยของหัวเว่ย  ด้วยพอร์ต 800GE ความหนาแน่นสูง เครือข่ายชุมสายสองชั้นของเครื่อง SuperCluster สามารถเชื่อมต่อได้มากถึง 2,250 โหนด (nodes) ต่อคลัสเตอร์ – เทียบเท่ากับ 18,000 NPUs – โดยไม่เกิดภาวะเครือข่ายล่ม (Oversubscription)

นอกจากนี้ หัวเว่ยสร้างความแข็งแกร่งในด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ การจัดเก็บข้อมูล เครือข่าย และพลังงานเพื่อปรับปรุงความเชื่อถือได้ของระบบอย่างเป็นระบบ และวิธีการนี้ได้ขยายผลครอบคลุมไปถึงความสามารถของคลัสเตอร์ในการรองรับการสร้างการเรียนรู้ให้กับโมเดลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวันไปจนถึงหลายเดือน หรือมากกว่านั้น

“การเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกอัจฉริยะบทใหม่กำลังเกิดขึ้น” คุณหวังกล่าว “ปัจจุบัน เรากำลังก้าวไปสู่โลกอัจฉริยะใบใหม่ที่มาพร้อมกับโอกาสและความท้าทายอีกมากมายในภายภาคหน้า  เราจำเป็นต้องร่วมมือกัน เจาะลึกลงไปในรูปแบบจำเพาะแต่ละอุตสาหกรรม และสร้างโครงสร้างพื้นฐานคอมพิวเตอร์ที่แข็งแกร่งเพื่อเสริมกำลังโมเดลและแอปพลิเคชันเอไอใหม่ๆ อีกนับไม่ถ้วน  ด้วยความร่วมมือนี้ เราจะสามารถช่วยให้ทุกอุตสาหกรรมก้าวไปสู่ความเป็นอัจฉริยะ ทั้งยังช่วยสนับสนุนให้สัมฤทธิ์ผลเร็วขึ้นอีกด้วย”

ในระหว่างที่กล่าวสุนทรพจน์ คุณหวังได้เปิดตัวโซลูชันอุตสาหกรรมอัจฉริยะรูปแบบใหม่เก้าโซลูชันที่จะได้ประโยชน์จากสถาปัตยกรรมอ้างอิงเพื่อการเปลี่ยนแปลงอัจฉริยะของหัวเว่ย  จากความร่วมมือกันระหว่างหัวเว่ย ลูกค้า และคู่ค้า โซลูชันเหล่านี้ได้รับการออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่ ภาคการเงิน ภาครัฐ ภาคการผลิต ภาคพลังงานไฟฟ้า และภาคคมนาคมขนส่งระบบราง

คุณหวังยังเปิดตัวสมุดปกขาวฉบับใหม่ ในหัวข้อ การเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่โลกอัจฉริยะ (Accelerating Intelligent Transformation) ซึ่งรวบรวมกรณีศึกษาและแนวปฏิบัติที่ดีต่าง ๆ ซึ่งมีเป้าประสงค์ในการช่วยให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีอัจฉริยะรูปแบบใหม่

นอกจากนี้ หัวเว่ยยังร่วมมือกับกลุ่มบริษัท ไชน่า เวสท์ แอร์พอร์ต กรุ๊ป (China West Airport Group (CWAG)) เพื่อพัฒนากลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงอัจฉริยะเต็มรูปแบบ ในส่วนนี้ รองผู้จัดการใหญ่ของ CWAG คุณหลิน ปิน ได้กล่าวว่า CWAG มีการพัฒนาโซลูชันอัจฉริยะกว่า 35 โครงการทางด้านความมั่นคงปลอดภัย การดำเนินงาน การบริการ และรูปแบบอื่นที่ใช้ศักยภาพเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง และแพลตฟอร์มอัจฉริยะแบบเปิดของหัวเว่ย ตลอดจนอัลกอริทึ่มขั้นสูงในภาคอุตสาหกรรม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โซลูชันการบริหารจัดการภาคพื้นดินอัจฉริยะของบริษัทฯ สามารถคาดการณ์และส่งคำเตือนเกี่ยวกับสถานะเที่ยวบิน ผู้โดยสาร และทรัพยากรต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถวางแผนด้านจำนวนพนักงานและกำหนดการเที่ยวบินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  โซลูชันนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาคพื้นดินให้ดีขึ้นถึง 20% ลดเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงานลงได้ถึง 17%  โซลูชันอัจฉริยะสำหรับการประกอบกิจการสนามบินมีการใช้โมเดลปรับแผนเที่ยวบินให้มีความเหมาะสมที่สุดระหว่างอุปสงค์และอุปทาน และรองรับการสั่งการปฏิบัติงานผ่านเอไอ

หัวข้องานหัวเว่ย คอนเนกต์ ประจำปี พ.ศ. 2566 (HUAWEI CONNECT 2023) คือ “เร่งสร้างโลกอัจฉริยะ” (Accelerate Intelligence) งานปีนี้เป็นที่รวมตัวของเหล่านักคิดระดับแนวหน้า นักธุรกิจชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี คู่ค้า นักพัฒนา และผู้มีส่วนได้เสียภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ  และเราจะช่วยกันหาวิธีเร่งสร้างความเป็นอัจฉริยะทางอุตสาหกรรมผ่านการพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรม และระบบนิเวศร่วมกันต่อไป  ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.huawei.com/en/events/huaweiconnect#Home