ENTERTAINMENT UPDATE » #HATETAG หนังสั้น 10 เรื่องจาก 5 ผู้กำกับคุณภาพมากฝีมือ กับเรื่องราวน่าสนใจของSocial Media

#HATETAG หนังสั้น 10 เรื่องจาก 5 ผู้กำกับคุณภาพมากฝีมือ กับเรื่องราวน่าสนใจของSocial Media

28 พฤษภาคม 2021
3119   0

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ บริษัท กู๊ดธิงแฮพเพ่น จำกัด และ บริษัท หับโห้หิ้น บางกอก จำกัด เปิด โปรเจกต์ #HATETAG หนังสั้น 10 เรื่องจาก 5 ผู้กำกับคุณภาพมากฝีมือ นำทีมโดย โอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ผู้กำกับภาพยนตร์ Home Stay, พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์, แคลร์-จิรัศยา วงษ์สุทิน ผู้กำกับซีรีส์ ONE YEAR 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ ร่วมด้วย 2 ผู้กำกับโฆษณามากความสามารถต้น-วุฒิดนัย อินทรเกษตร และ บอม-นิทรรศ สินวัฒนกุล ที่จะมาร่วมถ่ายทอดมุมมอง ประเด็นเรื่องราวที่น่าสนใจของโซเชียลมีเดียทั้งในอดีตและปัจจุบัน ผ่านหนังสั้นทั้ง 10 เรื่อง ที่จะให้ผู้ชมได้รับอรรถรส ความสนุก และได้ย้อนกลับมามอง และตั้งคำถามกับตัวเองไปพร้อมๆ กัน 

ดร.ธนกร ศรีสุขใส
ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้สนับสนุนการผลิตสื่อสร้างสรรค์อย่างหลากหลาย ในครั้งนี้เลือกผลงานหนังสั้นเพื่อใช้สื่อสาร ทางกองทุนเล็งเห็นประโยชน์จากหนังสั้นอย่างไร

“โครงการนี้เป็นหนังสั้น 10 ตอน ตอนละประมาณ 15 นาที อันดับแรกเผยแพร่ในช่องทางสื่อดั้งเดิมก่อน ก็คือโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ทางช่องอมรินทร์ ทีวี แล้วก็ควบคู่ไปกับทางสื่อสังคมออนไลน์ แอพพลิเคชั่น Line TV หลังจากนั้นแล้วก็สามารถออกสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบอื่นๆ ได้ เช่น โพสต์ภาพ Facebook , Youtube หวังว่าหนังสั้นทั้ง 10 เรื่องนี้จะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวาง และเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่สังคม ที่จะเห็นโทษแล้วก็ผลกระทบของการ bully ในโลกออนไลน์”

เมื่อได้รับชมตัวอย่างของหนังสั้นครั้งนี้แล้ว ทางกองทุนมองเห็นข้อแตกต่างในการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์สังคมที่ผ่านมาอย่างไร

“เราใช้องค์ประกอบในการทำหนังสั้นหลายแบบ หนึ่งคือเราเอาเคสที่มันเกิดขึ้นจริงมาเขียนเป็นบท แล้วก็เอาประเด็นต่าง ๆ มากำหนดเป็นตอนที่มีความเชื่อมโยงกัน ต่อเนื่องกัน แล้วก็ไม่ซ้ำกัน และที่สำคัญก็คือการได้ใช้ศักยภาพและฝีมือของผู้กำกับ แล้วก็ได้เลือกใช้นักแสดงที่รู้จักและก็มีต้นทุนในเรื่องชื่อเสียงในกลุ่มเป้าหมาย เพราะฉะนั้นถือว่าเป็น นวัตกรรมการสื่อสารที่คิดว่าน่าจะเหมาะกับยุคสมัย และด้วยความที่เป็นหนังสั้นก็ไม่ต้องใช้เวลามาก และแต่ละตอนก็จบในตอนของตัวเอง เพราะฉะนั้น อาจจะดูบ้างบางตอนและไม่ได้ดูบ้างบางตอน ตอนนี้ดูไปแล้วตอนนี้ยังไม่ได้ดูก็สามารถกลับมาดูใหม่ได้ ก็ถือว่าน่าจะเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ดี แล้วก็น่าจะตรงกลุ่มเป้าหมายที่กองทุนได้ตั้งไว้ บรรลุวัตถุประสงค์ที่กองทุนตั้งไว้ด้วย”

ทางกองทุนมองการต่อยอดคอนเทนต์ ที่ผลิตสู่สังคมในอนาคตอย่างไร

“การต่อยอดคอนเทนต์ ที่ผลิตสื่อสังคมออนไลน์ เอาภาพใหญ่ก่อนคือหนึ่งเราเป็น กองทุนเล็ก ๆ เงินก็ไม่มากแต่ว่าเราตระหนักอยู่เสมอว่าบทบาททางกองทุนนั้น เราฝันไกลคิดใหญ่ต้องการให้เรานั้นสามารถสร้างบทบาทในการที่จะสร้างผลกระทบของสื่อ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม อันนี้คือเป็นเป้าหมาย แล้ววันนี้ก็พบว่าสิ่งที่กองทุนอยากเห็นก็คือ การผลิตสื่อที่เป็นมืออาชีพ เราอยากเห็นการแยกแยะความเป็นสื่อ กับความเป็นสื่อมวลชน แน่นอนว่าวันนี้ทุกคนเป็นสื่อได้แต่เราอยากเห็นคนที่เป็นสื่อทุกคนที่มีความเป็นอิสระในตัวเอง ผลิตสื่อได้ด้วยตัวเอง พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสื่อที่ดีและสร้างสรรค์ แล้วก็ทำหน้าที่เหมือนกับเป็นสื่อมวลชน เพราะว่าวันนี้โลกมันไปไกลมาก การเปิดรับข้อมูลข่าวสารก็ผ่านสื่อ     โซเชียลออนไลน์ทั้งนั้น ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของช่องทางทั้งในเรื่องของการผลิตและการเผยแพร่ที่มันเข้าไปอยู่ในโลกของสื่อสังคมออนไลน์ เราก็ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มผู้เปิดรับข่าวสารที่เป็นกลุ่มใหญ่ได้ เพราะฉะนั้นก็หวังว่าจากเรื่องของการผลิตสื่อสร้างสรรค์ จริง ๆ หนังสั้นไม่จำเป็นต้อง 15 นาที 10 นาทีก็ได้ เป็น 5 นาทีก็ได้ 

ถึงทุกวันนี้เราก็ยังอยากเห็น ผู้ชม ผู้ฟัง ผู้ติดตาม หรือประชาชนทั่วไป ลองทำในสิ่งที่ถนัดและส่งเข้ามาในเพจของเรา ว่าเขาผลิตสื่อที่น่าสนใจนะคุณสนใจไหม อะไรแบบนี้ คือเราอยากจะต่อยอดไปในรูปแบบที่ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องเป็นผู้รับทุนอย่างเดียว หรือว่าจะต้องเอาเงินเป็นตัวตั้งอย่างเดียว ถึงแม้เงินมันคือเครื่องมือในการทำงาน ถ้าไม่มีเงินก็จะทำงานยาก แต่ว่าการทำงานทุกอย่างไม่จำเป็นว่าต้องมีเงินแล้วทำได้ สิ่งที่กองทุนอยากขยายผลไปวันนี้ก็คือว่า สำหรับคนที่มีของอยู่แล้ว ลองเอามาแลกเปลี่ยนกับเราดู แล้วเราก็จะสามารถต่อยอดให้เขาได้ ไปในรูปแบบของช่องทางอื่น ๆ ทั้งในเรื่องของการจัดสรรเงินทุนประจำปี หรือว่ากองทุนก็จะพิจารณาในการเอามาเป็นการสนับสนุนภายใต้โครงการตามยุทธศาสตร์ของกองทุนเอง มันดีกว่าที่ปีนึงก็รอเปิดแล้วก็เข้ามายื่นข้อเสนอโครงการ สำหรับคนที่สนใจเรื่องสื่อสร้างสรรค์จริง ๆ กองทุนอยากเห็นการติดต่อ สื่อสาร การเข้ามาพูดคุยอยู่อย่างตลอดเวลา อย่าไปเริ่มต้นว่าจะต้องได้โครงการหรือจะต้องได้เงิน ให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก่อน”

ฝากอะไรถึงผู้ชมที่ติดตามการสร้างสรรค์งานจากกองทุนฯ

“สื่อมีผลกระทบต่อสังคมอย่างวงกว้าง ทั้งในระดับความกว้างและทางลึก โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเรื่อง bully นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ก็คือการกลั่นแกล้งกัน การล้อเลียนกัน มีผลกระทบในทางที่เสียหาย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก แล้วเรื่องนี้เราก็ตระหนัก ถือว่าเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องรับรู้รวมกันและหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่ความจริงแล้วเรื่องของ bully มันยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงเชื่อมโยงกัน เช่น นอกจาก bully แล้วก็ยังมีการส่งข้อมูลที่เป็นข่าวลวง ข่าวปลอม ก็คือเราไม่ได้ผลิตเอง แต่เรารับมา เราใช้ความเคยชินเราสนใจเอง บางทีเราอ่านไม่จบด้วยซ้ำเราก็แชร์แล้ว เรื่องนี้กองทุนอยากให้ตระหนักมาก ๆ นอกจากข่าวลวงข่าวปลอม แล้วในโลกของสื่อสังคมออนไลน์มีเรื่องของภาษาสร้างความเกลียดชังเยอะมาก Hate Speech เยอะมาก แล้วยังเห็นอยู่ว่ามีคนนิยมแชร์ คือคนมองข้ามการอนุญาตให้ผู้คนใช้คำด่าคำหยาบ เพียงเพื่อว่าคน ๆ นั้นมีแนวคิดที่เป็นไปในทิศทางกับที่ตัวเองต้องการ ซึ่งอันนี้กองทุนไม่เห็นด้วยเลย เช่นว่า เราอาจจะหงุดหงิดที่วัคซีนล่าช้า จริง ๆ ที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานของรัฐ มันก็เป็นเรื่องปกติ แต่ว่าถ้าเราหงุดหงิดแล้วเราก็ไปสนับสนุนให้คนที่รู้สึกเหมือนเราแต่ใช้ภาษาที่มันหยาบคายมาก ด่านับคำได้เลย อยากจะวิงวอนเลยว่าคลิปที่มันใช้คำด่าคำหยาบ อย่าสะใจเลย ขอเถอะอย่าส่งต่อได้ไหม ถ้าคุณชอบ คุณดูหลาย ๆ รอบไปเลย อย่างที่บอกคือเราต้องการสื่อสารข้อมูลบางอย่างแต่เราปล่อยให้สิ่งที่มันเจือปนเข้ามา ซึ่งอาจจะมีผลร้ายมากกว่าผลดีนะครับ  

จาก bully มาสู่ Fake News ข่าวลวง ข่าวปลอม Hate Speech เราก็ยังเป็นห่วงไปถึงการสื่อสารเพื่อเอาเปรียบผู้บริโภค การหลอกลวงขายสินค้าอะไรพวกนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กองทุนก็ทำกิจกรรมอยู่แล้วกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะสร้างการรับรู้ความรู้เท่าทัน การรู้เท่าทันสื่อโฆษณา สุขภาพ เป็นต้น ทุกเรื่องเป็นเรื่องใหญ่หมดและเป็นปัญหาที่สำคัญหมด แต่ว่าอย่างที่บอกเราก็มีข้อจำกัด ทำงานเราก็ทำอย่างดีที่สุด”

ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต
ประธานอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไดัสนับสนุนการผลิตสื่อสร้างสรรค์ในหัวข้อหลากหลาย ทำไมถึงเลือกหัวข้อ Cyberbullying ขึ้นมาเป็นโจทย์ในการสร้างสรรค์งานของปีที่ผ่านมา

“ปัญหา Cyberbully เป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในสังคมไทย โดยผู้กระทำและเหยื่อผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ เป็นเยาวชน นักเรียน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ในระดับที่สูงมาก ดังนั้นจึงเป็นภารกิจ ความรับผิดชอบกองทุนสื่อในการช่วยรณรงค์ให้เยาวชนผู้ใช้สื่อออนไลน์ และสังคมโดยทั่วไป ได้มีความตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหา Cyberbullying ที่อาจไม่ยิ่งหย่อน หรืออาจจะมีผลร้ายแรงกว่าการกลั่นแกล้งในชีวิตจริงด้วยซ้ำ กองทุนสื่อจึงเปิดโจทย์ให้มีผู้เสนอโครงการทำสื่อต้าน Cyberbully ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 2 ซึ่งได้รับข้อเสนอโครงการที่น่าสนใจและมีคุณภาพเข้ามาเป็นจำนวนมากและหลากหลายรูปแบบ ทั้งซีรีย์ หนังสั้น ละครเพลง และกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งหนังสั้นก็เป็นสื่อที่อยู่ในกระแสความนิยมของวัยรุ่นด้วย และมีข้อได้เปรียบตรงที่สามารถเผยแพร่ทางช่องทางออนไลน์ได้ง่าย และดูได้ง่าย ไม่ต้องใช้เวลานาน ไม่ต้องดูครบทุกเรื่องก็เข้าใจได้ จึงเชื่อว่าจะสามารถเข้าถึงกลุ่มเยาวชนได้เป็นอย่างดี” 

จุดร่วมที่น่าสนใจจากเนื้อหา Stop Cyberbullying ของแคมเปญหนังสั้นนี้ ทางกองทุนมองการต่อยอดสู่สังคมในอนาคตอย่างไร

“โครงการหนังสั้น Stop Cyberbullying นี้ มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผลิตโดยทีมงานที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ ทั้งผู้กำกับและนักแสดงที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักและติดตามของกลุ่มเยาวชน รวมทั้งมีเนื้อหาที่มีความทันสมัย เล่าเรื่องได้สนุก น่าติดตาม และอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดหลักเกี่ยวกับพฤติกรรมการ Cyberbully ในรูปแบบต่างๆที่หลายคนอาจจะมองข้ามหรือไม่เคยนึกถึงมาก่อน และได้รับคำแนะนำด้านเนื้อหาในความเป็นสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับสังคมจากคณะกรรมการประเมินผลของกองทุนสื่อ นอกจากนั้น การทำเป็นหนังสั้นนี้ มีประโยชน์ตรงที่สามารถแตกออกเป็นประเด็นย่อยที่หลากหลายครอบคลุมได้ สามารถนำไปใช้เป็นสื่อการสอนในห้องเรียนได้ จึงเชื่อได้ว่าจะนำไปต่อยอดเพื่อสร้างผลกระทบและแรงกระเพื่อมทางสังคมให้ตระหนักถึงอันตรายของ Cyberbully ได้อย่างแน่นอน”

ฝากอะไรถึงผู้ชมที่ติดตามการสร้างสรรค์งานจากกองทุนฯ

“ที่ผ่านมากองทุนสื่อพยายามส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสร้างสื่อที่ดี มีเนื้อหาที่สร้างสรรค์ ที่จะช่วยยกระดับจิตใจ และความตระหนักในปัญหาและอันตรายของสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ และให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนมีความรู้เท่าทันสื่อ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองและสังคม เพราะเราเชื่อว่าสื่อมีอิทธิพลอย่างสูงต่อสังคม สื่อในสังคมเป็นอย่างไร คนในสังคมก็เป็นอย่างนั้น สื่อดี ก็จะช่วยให้สังคมดีไปด้วย แต่กองทุนสื่อก็ไม่สามารถทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่นี้ฝ่ายเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งผู้ผลิตสื่อในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน ที่จะมีจิตใจ มีอุดมการณ์ร่วมกันในการสร้างสังคมที่ดีขึ้น เข้ามาร่วมมือกันทำตามความฝันที่มีร่วมกันนี้ให้สำเร็จ ไปจนถึงผู้ใช้สื่อ รับสื่ออย่างพวกเราทุกคนด้วย ที่จะช่วยกันคนละไม้ละมือ เลือกรับข้อมูลข่าวสารที่สร้างสรรค์ ไม่สร้างเนื้อหาที่เกลียดชัง หรือส่งต่อข้อมูลเท็จ หรือช่วยกันสร้างและเผยแพร่เนื้อหาที่ดี มีประโยชน์ ค่อยดูแลแก้ไข ห้ามปราม เนื้อหาที่ไม่เป็นความจริงหรือก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้อื่นเท่าที่เราจะทำได้ เริ่มต้นจากในครอบครัว หรือคนใกล้ตัวที่เรารู้จักเราทุกคนมีส่วนช่วยลดขยะในโลกแห่งการสื่อสาร หยุดใส่ปุ๋ยให้กับเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชัง  และช่วยกันสร้างสังคมที่ดีขึ้น ด้วยสื่อสร้างสรรค์ครับ”

ติดตามชมหนังสั้นโปรเจกต์ #HATETAG ทั้ง 10 เรื่อง ได้แก่  

1. #saveตูดคอร์กี้

2. #NextDoor

3. #นักเกรียน (1)

4. #นักเกรียน (2)

5. #ImWithYou

6. #แบนสิงโต

7. #harass(com)ment

8. #ครูต้นแบบ

9. #influencer

10. #CyberExposure

ได้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.15 น. ทางอมรินทร์ทีวี HD ช่อง 34 เริ่มตอนแรก วันเสาร์ที่ 29 พ.ค. 2564 ดูออนไลน์ที่แรกบน LINE TV เท่านั้น เวลา 19.00 น. และ ติดตามรายละเอียดของโปรเจกต์ #HATETAG เพิ่มเติม ได้ที่ Facebook และ Twitter : @hatetagtheproject  และ Facebook : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

5 ผู้กำกับร่วมถ่ายทอดความสนุกในโปรเจกต์หนังสั้น#HATETAG

โอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ

ผู้กำกับภาพยนตร์ภาพยนตร์ Home Stay

Cyber Bully โปรเจกต์หนังสั้นที่น่าสนใจและอยากทำ

“ทันทีที่ได้รับโจทย์มาว่า ให้ทำโปรเจกต์หนังสั้นเกี่ยวกับ Cyber Bully ผมตอบกลับไปเลยว่า Cyber Bully ตอนนี้มันวิวัฒนาการไปเยอะมากแล้ว คนโซเชียลไม่เหมือนเดิม มุมมองของผมคนเดียวมันแคบไป แต่ถ้าให้คนที่ต่างวัยมาเล่าเรื่องมันก็จะมีมุมที่แตกต่างออกไป จึงเป็นที่มาของโปรเจกต์นี้ที่มี 5 ผู้กำกับมาเล่าเรื่องในมุมที่ไม่ซ้ำกัน”

รับหน้าที่กำกับหนังสั้น 4 เรื่อง ที่สะท้อนมุมมองคนหลากหลายวัย

“โปรเจกต์นี้ผมได้ทำหนังสั้น 4 เรื่อง ซึ่งผมได้เล่าเรื่องราวสะท้อนมุมองของคนทั้ง 3 วัย คือตั้งแต่อนุบาล, มัธยม และมหาวิทยาลัย ผ่านหนังสั้นทั้ง 4 เรื่อง คือ #แบนสิงโต, #นักเกรียน(1), #นักเกรียน(2) และ #ครูต้นแบบ ซึ่งไอเดียเรื่องพ่อแม่รังแกกัน ผมได้มาจากกรุ๊ปไลน์โรงเรียนที่พ่อแม่ทุกคนต่างคุยกันเรื่องลูกๆ จนบางครั้งมันก็มีความ Cyber Bully อยู่ในนั้น ส่วนนักเกรียน 1 และ 2 เป็นเรื่องราวของเด็กมัธยมที่ทำเพจความอยุติธรรมในโรงเรียน  เพื่อแฉเรื่องราวของเด็กและครูที่ทำผิด แต่สุดท้ายเพจนี้ก็ต้องถูกลบไปด้วยอำนาจอะไรบางอย่าง และเรื่องสุดท้าย ครูต้นแบบ เรื่องนี้ผมได้ไอเดียมาจากเฟซบุ๊กรุ่นพี่คนหนึ่งที่เขาโพสต์เรื่องราวการให้กำลังใจเด็ก เขารู้สึกว่าการชื่นชมคือการให้พลัง โพสต์นี้ถูกแชร์ไปเยอะมาก จนมีคอมเมนต์หนึ่งที่ทำให้เขาและนักเรียนคนนั้นไปถึงจุดที่ “สังคมตัวหนังสือกำลังทำร้ายกัน” ทั้ง 3 เรื่องนี้ได้เล่าเรื่องของคนโซเชียลทุกวันนี้ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เราจะได้เห็นปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ผ่านสิ่งที่เรียกว่าการ  Cyber Bully ทั้งหมดที่เกิดขึ้น หนังไม่ได้ตัดสินว่าอะไรถูกหรือผิด แต่แค่อยากให้กลับมามองย้อนว่า ผลกระทบของ Cyber Bully ส่งผลอะไรต่อเราบ้าง”

#นักเกรียน (1) และ #นักเกรียน (2)

เรื่องย่อ

เก้า นักเรียนชั้นม.ปลาย ในโรงเรียนมัธยมชื่อดัง ก่อตั้งเพจ “นักเกรียน” ขึ้นมาอย่างลับ ๆ เพื่อตั้งคำถามกับความไม่ชอบธรรมของการใช้อำนาจในโรงเรียน

วันหนึ่ง เก้าได้รับการร้องเรียนจากเด็กนักเรียนชายในโรงเรียน ว่าถูกครูล่วงละเมิดทางเพศ และเอาคลิปของเขาไปแชร์ในทวิตเตอร์

เก้าทำการสืบเสาะจนรู้ว่าครูคนนั้นเป็นใคร แต่ทันทีที่แชร์ข้อมูลลงในเพจ กลับมีกระแสตีกลับอย่างรุนแรงจากบรรดาศิษย์เก่าและครูอื่น ๆ ในโรงเรียน และยังกลับเป็นฝ่ายถูกไล่ล่าเพื่อเปิดโปงโฉมหน้าที่แท้จริงของเก้า ในฐานะผู้บ่อนทำลายชื่อเสียงของโรงเรียน!!

นำแสดงโดย นนท์-ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์, ชลธร ตั้งอมรรัตน์

กำกับโดย ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ

#แบนสิงโต

เรื่องย่อ

เมื่อลูกชายวัยอนุบาลถูกเพื่อนในชั้นเรียนรังแก ปิงจึงถูกชวนให้เข้ากลุ่มไลน์ลับของผู้ปกครองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์เด็กเกเรรายนี้

ลามไปถึงการเลี้ยงดูของแม่ที่มีบุคลิกและพฤติกรรมแตกต่างไปจากพ่อแม่คนอื่น ๆ ทั่วไป แต่เมื่อปิงได้รู้จักตัวตนของแม่ลูกคู่นี้ก็เกิดเป็นความเห็นใจขึ้นมา จึงพยายามจะเป็นตัวกลางเพื่อประสานรอยร้าว

แต่ยิ่งเข้าไปปกป้องแม่ลูกคู่นี้มากเท่าไร ดูเหมือนปิงจะกลายเป็นเหยื่อของการถูกโจมตีเสียเอง

นำแสดงโดย เผือก-พงศธร จงวิลาส, มัชฌิมา วชิรโกเมน

กำกับโดย ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ

#ครูต้นแบบ

เรื่องย่อ

ครูดาว อาจารย์มหาวิทยาลัย มักจะโพสต์เรื่องราวดี ๆ ลงในเฟซบุ๊กของเธอ จนมีคนเข้ามาติดตามอ่าน และให้การชื่นชมอยู่เสมอ

จนกระทั่งสเตตัสล่าสุดที่เธอเขียนชื่นชมผลงานของนักศึกษาในชั้นเรียนที่มีคนแชร์ต่อ ๆ กันไปมากมาย ดันมีนักศึกษาต่างมหาวิทยาลัยเข้ามาพิมพ์คอมเมนท์ด้วยภาษาไม่สุภาพ

พอครูดาวเข้าไปตำหนิ อีกฝ่ายกลับไม่ยอมลงให้ง่าย ๆ จนบานปลายกลายเป็นสงครามสาดโคลนบนโลกออนไลน์ที่สร้างความเสียหายให้กับทั้งสองฝ่ายอย่างคาดไม่ถึง

นำแสดงโดย ลุลา-กันยารัตน์ ติยะพรไชย, อ๊อม-กณิศ วิเชียรวนิชกุล  

กำกับโดย ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ

แคลร์-จิรัศยา วงษ์สุทิน

ผู้กำกับมากฝีมือ ที่เคยฝากผลงานมาแล้วใน One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ

ไอเดียของหนังสั้นเรื่องนี้คือทำเพื่อเตือนสติตัวเอง

“ไอเดียของหนังสั้นเรื่องนี้จริง ๆ คือแคลร์ทำหนังด่าตัวเอง(หัวเราะ) มันมีช่วงหนึ่งที่เราอินกับ Political Correctness มาก เหมือนเราอยากเป็นประชากรโลกที่ดี อยากเห็นมนุษย์เท่าเทียมกัน มีความเห็นอกเห็นใจกัน พอเห็นคอมเม้นท์ในโซเชียลเข้าข่ายไม่ Political Correctness เราก็จะไปต่อว่าเขา ไปหาว่าเขาเป็นคนเหยียดเพศมั่ง Body Shaming (การล้อเลียนรูปร่างหน้าตาของคนอื่นให้อาย) ซึ่งบางทีมันเหมือนเป็นคำพูดที่เกิดจากความไม่รู้มากกว่าจะตั้งใจทำร้ายความรู้สึกกัน 

ก็ใช้วิธีทักส่วนตัวไปคุยมั้ย ไม่ใช่ไปคอมเมนต์ด่าเขา ประจานเขาให้คนอื่นเห็น เหมือนจุดหนึ่งเราก็มองว่า เฮ้ยเราอยากให้คนเห็นใจกัน แต่ทำไมเราเองที่ไม่เห็นใจหรือพยายามทำความเข้าใจคนอื่นเลย”

#saveตูดคอร์กี้ หนังสั้นตลกเสียดสี ที่อยากให้ย้อนกลับมาดูพฤติกรรมตัวเอง

“หนังสั้นเรื่องนี้เป็นแนวตลกเสียดสี คิดว่าคนดูน่าจะสนุกไปกับหนัง และจะดีใจมากถ้าหนังเรื่องนี้จะสามารถทำให้คนดูได้ฉุกคิดและย้อนมองพฤติกรรมการใช้โซเชียลของตัวเอง เพราะโลกโซเชีลยมันไวมากเลยค่ะ ก่อนที่จะเราจะพิมพ์ อ่าน แชร์ หรือตัดสินใจใครผ่านโซเชียล อยากให้ตรึงตรองกันเยอะๆค่ะ”

#saveตูดคอร์กี้

เรื่องย่อ

#saveตูดคอร์กี้ ป็นภาพยนตร์สั้นแนวตลกเสียดสี เกี่ยวกับโบล่า หญิงสาวัย 20 ผู้ยึดมั่นในหลักความเท่าเทียมกันของทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกมนุษย์

โบล่าทนไม่ได้เมื่อเห็นใครโพสต์ข้อความที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมลงในโซเชียล เธอจะเข้าไปคอมเม้นท์ตักเตือนและให้ความรู้กับคนนั้นทันที วันหนึ่งโบล่าเห็นเพื่อนในเฟซบุ๊คคนหนึ่งโพสต์รูปตูดหมาคอร์กี้

โบล่าทนไม่ได้ที่เห็นหมากำลังโดนคุกคามทางเพศ เธอจึงเข้าไปคอมเม้นท์เพื่อทวงคืนความปลอดภัยให้กับหมาคอร์กี้!

นำแสดงโดย ก้อย-อรัชพร โภคินภากร

กำกับโดย จิรัศยา วงษ์สุทิน

ต้น-วุฒิดนัย อินทรเกษตร

ผู้กำกับคุณภาพ สร้างสรรค์งานโฆษณาที่ได้รับความนิยมและคว้ารางวัลมาแล้วมากมาย

จากข่าวในอินเตอร์เน็ตสู่หนังสั้นเรื่อง #influencer

“ทุกวันนี้เราเห็น influencer ในอินเตอร์เน็ตมากมาย แล้วก็สร้างคาแร็กเตอร์ตัวเองจากแง่มุมต่างๆ มีทั้งตลก ดราม่า มันก็เลยกลายเป็นที่มาของหนังสั้นเรื่องนี้ ผมได้นำเอาข่าวจากในอินเตอร์เน็ต มาผูกเรื่องขึ้นใหม่ เป็นเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่โพสต์เรื่องแฟนฆ่าตัวตาย จนกลายเป็นกระแสและมีชื่อเสียง เป็นinfluencer ในโลกออนไลน์ที่เสพติดการสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง”

คลิปน้องกวาง  NET IDOL ไอเดียทำหนังสั้น “#harass(com)ment”

“แรงบันดาลใจของหนังสั้นเรื่องนี้มาจากการได้เห็นคลิปของน้องกวาง ในคลิปนั้นเขาเอาคอมเมนต์ที่ถูกBully มาร้องเป็นเพลง ผมรู้สึกว่าน่าสนใจ ผมจึงนำไอเดียนี้มาเขียนบทเพื่อสร้างฉากนี้ขึ้นมา  ผมรู้สึกว่านี่คือทัศนคติที่ดีของคนที่เข้มแข็งกับการรับมือบนโซเชียล จึงอยากเอาทัศนคตินี้มาเล่าในหนังสั้น “#harass(com)ment”

ร่วมงานกับ 2 นักแสดงที่ยอมรับว่ามืออาชีพมาก

“น้องนาน่า กับน้องพลอย เป็นนักแสดงที่ทุ่มเทมากๆ นาน่ามีเวลาทำการบ้านน้อยมาก แต่น้องมาพร้อมกับการแสดงที่คุณภาพจริงๆ ส่วนน้องพลอยเรื่องนี้วิธีการเล่นส่วนใหญ่จะถูกเล่าผ่านเครื่องมือสื่อสาร ผ่านการแชท ผ่านการส่งคลิป การเล่นกับสิ่งไม่มีชีวิตมันต้องแสดงออกชัดๆ อินเนอร์ต้องมา ซึ่งน้องพลอยทำได้ดีมาก ผมอยากฝากหนังสั้นทั้งสองเรื่องนี้ด้วยครับ เป็นสิ่งที่ผมเขียนขึ้นมากจากการสะท้อนโลกโซเชียลในปัจจุบัน และประเด็นความสำคัญของโปรเจกต์นี้ของทุกเรื่อง มันคือการให้เรารู้จักโลกออนไลน์ โลกโซเชียลให้ดีขึ้น แล้วหยุดรังแกกัน หยุดพูดจาคอมเมนต์ไม่ดีต่อกัน”

#harass(com)ment

เรื่องย่อ

กวาง (นาน่า-ศวรรยา ไพศาลพยัคฆ์) ตัดสินใจระบายความอัดอั้นผ่านการ LIVE ในโลกออนไลน์ ว่าถูกอาจารย์ชายจ้องหน้าอก โพสต์ของเธอถูกแชร์ไปอย่างรวดเร็ว

ตามมาด้วยคอมเมนต์ที่คุกคาม และกล่าวโทษเธอ ทั้งๆ ที่เธอเองก็เป็นเหยื่อ “ตั้งใจขายหรือเปล่า” “ให้ท่าครูล่ะสิ” คอมเมนต์ต่างๆ เหล่านี้ ทำให้กวางจิตตกและเสียใจอย่างมาก ที่นอกจากจะไม่มีใครเชื่อเธอ

เธอยังถูกเหยียดหยามจากคนที่ไม่รู้จักเธอเลย และเมื่อกวางไปโรงเรียนในวันรุ่งขึ้น กวางต้องประสบกับอาการวิตกกังวล ที่ทุกคนต่างมองเธอด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป และกวางจะต้องทำอย่างไร เพื่อรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้

นำแสดงโดย นาน่า-ศวรรยา ไพศาลพยัคฆ์ , รัศม์ ชาญสงคราม 

กำกับโดย วุฒิดนัย อินทรเกษตร

#influencer

เรื่องย่อ

“พลอย” (รับบทโดย ชนิกานต์ โศภิษฐ์วิศิษฏ์) หญิงสาวคนหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความไว้อาลัยให้กับ “กัน” (อวัช รัตนปิณฑะ) แฟนหนุ่มที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ทำให้มีผู้คนจำนวนมากเข้ามาคอมเมนต์ให้กำลังใจเธอ

ข้อความที่เธอโพสต์ถูกแชร์ในโลกออนไลน์ ทำให้คนที่เธอไม่รู้จักอีกหลายคนเข้ามาติดตาม พลอยกลายเป็นที่รู้จัก กลายเป็นคนดังในสังคมออนไลน์ เธอมักจะโพสต์เรื่องราวของแฟนหนุ่มที่ถูกรังแกในโลกออนไลน์และโรคซึมเศร้าของเขา การฆ่าตัวตายของแฟนได้สร้างชื่อเสียงให้กับเธอเป็นอย่างมาก

พลอยได้รับการสนับสนุนจากคนจำนวนมากในโลกออนไลน์ ทำให้พลอยเริ่มเสพติดชื่อเสียงที่ได้มานี้ ในขณะเดียวกัน เรื่องการฆ่าตัวตายของกัน ยังคงค้างคาใจผู้เป็นแม่ ที่พยายามค้นหาความจริงเกี่ยวกับการถูกรังแกของลูกชาย

นำแสดงโดย พลอย LINE IDOL (ชนิกานต์ โศภิษฐ์วิศิษฏ์), อัด-อวัช รัตนปิณฑะ, ดวงใจ หิรัญศรี 

กำกับโดย วุฒิดนัย อินทรเกษตร

พัฒน์-พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์

ผู้กำกับ ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์

Cyberbullying ประเด็นที่สนใจและอยากทำ

“ผมสนใจประเด็นนี้อยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่กระทบกับสังคมจริงๆ ผมอยากทำเรื่องนี้เป็นสารคดีมากกว่าเป็นหนังสั้น ด้วยความที่ผมทำงานใกล้ชิดกับพี่ย้ง-ทรงยศ และน้องๆ นักแสดงนาดาวหลายๆ คน ซึ่งแต่ละคนน่าจะมีมุมมอง ความคิดที่จะพูดในเรื่องนี้ให้มีมิติมากกว่าจะเป็นเรื่อง Cyber Bully เรื่องการกลั่นแกล้งกัน ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นอยากนั่งคุยกับพี่ย้ง และน้องๆ นักแสดงนาดาว อยากรู้ทัศนคติของเขาในเรื่องนี้ จึงกลายเป็นที่มาของสารคดีเรื่องนี้”

ทุกประเด็นน่าสนใจ ผลกระทบที่เกิดสุดท้ายอยู่ที่จุดยืนของเรา

“สารคดีสั้นเรื่องนี้ ผมพยายามตั้งใจให้มันออกมาเป็นธรรมชาติมากที่สุด เป็นสารคดีที่ทำให้เด็กวัยรุ่น และผู้ใหญ่ หรือใครก็ตามที่ดูแล้ว มันไม่ได้พูดถึงความสำคัญในโลกโซเชียลอย่างเดียว แต่มันพูดถึงจุดยืนของตัวเรา ที่ได้รับผลกระทำจากคนในสังคมที่กระทบไปกระทบมา แต่สุดท้ายเราจะสามารถอยู่ในสังคมที่มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้อย่างไร ผ่านทัศนคติของพวกเขาทั้ง 6 คน”

#CyberExposure

เรื่องย่อ

สารคดีที่มอบโจทย์ให้เจเจ-กฤษณภูมิ, กันต์ ชุณหวัตร, จูเนียร์-ปณชัย,อัด-อวัช, พี-สาริษฐ์ และย้ง-ทรงยศ ไปถ่ายรูปชีวิตพวกเขาภายใต้ธีม “ตัวเองที่พวกเรามองเห็น” เพื่อลองดูว่าพวกเขามองเห็นอะไรเมื่อเทียบกับสิ่งที่คนรอบตัวมองเห็นพวกเขา

นักแสดง ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์, เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม, พี-สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร, จูเนียร์-ปณชัย ศรีอาริยะรุ่งเรือง, กันต์ ชุณหวัตร, อัด-อวัช รัตนปิณฑะ

กำกับโดย พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์

บอม-นิทรรศ สินวัฒนกุล

ผู้กำกับน้องใหม่แต่มากฝีมือ ผลงานภาพยนตร์เรื่อง “Deleted” ได้รับ รางวัล “วิจิตรมาตรา” จากเทศกาลภาพยนตร์สั้น ครั้งที่ 17 และ รางวัล Young Thai Artist Award 2013 สาขา ภาพยนตร์ จากโครงการ ‘รางวัลศิลปะเพื่อเยาวชนไทย 2556’ หรือ Young Thai Artist Award 2013 ซึ่งเป็นเวทีการประกวดศิลปะระดับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็น Official Selection ให้ฉายในเทศกาล International Film Festival Rotterdam 2015

ไอเดียหนังสั้นทั้ง 2 เรื่องมาจากเค้าโครงเรื่องจริง

“เรื่อง I’mWithYou ผมได้ไอเดียมาจากการเห็นข่าวผู้หญิงฝรั่งแชทคุยกับผู้ชายอีกประเทศหนึ่งจีบกันเป็นแฟนกันผ่านแชท แล้วผู้หญิงก็ซื้อตั๋วบินมาหาผู้ชาย พอไปถึงผู้ชายก็เฉลยทั้งหมดว่าที่ผ่านมาเป็นการแกล้งหลอกทั้งหมด ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก ผมเลยนำเอาเค้าโครงเรื่องจากข่าวมาปรับใหม่ เป็นเรื่องของเพศทางเลือก เพศที่สามที่โดนbully ทางโซเชียล เราต้องแข็งแรงแค่ไหนถึงจะผ่านเรื่องร้ายๆ ไปได้ ถ้าเรามีครอบครัว มีเพื่อนที่ให้กำลังใจ คอยซัพพอร์ต ก็จะทำให้เราผ่านเรื่องร้ายๆ ไปได้ง่ายขึ้น “คนที่ถูก Cyber Bully ต้องการความเข้าใจจากคนรอบข้าง ไม่ใช่การเหยียบซ้ำ ซึ่งเรื่องนี้ ริว เล่นได้ดีมาก มุมมองความคิด ชีวิตของริวตรงกับบทมาก โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์กับครอบครัว”

“#NextDoor” หนังสั้นที่อยากให้โอกาสคนที่เคยทำผิด  

เรื่องนี้มาจากที่ผมเห็นข่าวฆาตกรรมดังๆในอดีตแล้วคิดว่า ผู้กระทำความผิดในข่าวจะมีชีวิตอย่างไรในสังคมหลังรับโทษ คนที่อยู่รอบข้างจะรู้สึกอย่างไรที่ต้องอยู่ใกล้คนที่เคยฆ่าคนมาแล้ว ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็คงรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่อยากอยู่ใกล้ๆ เหมือนกัน จึงใช้ไอเดียนี้มาปรับให้เข้ากับการใช้ โซเชียลมีเดียของคนในปัจจุบัน

จึงนำมาสู่เรื่องราวของหมอที่เป็นฆาตกรแล้วพ้นโทษออกมา มาเป็นไอเดียของตัวละครในเรื่องที่ซื้อคอนโดในฝันของตัวเองแล้วเพิ่งย้ายเข้าไปอยู่ แต่วันหนึ่งไปรู้มาว่า คนที่อยู่ข้างห้องคือฆาตรกรที่พ้นโทษออกมา ผมรู้สึกว่า ถ้าเรายังbully เขาไปเรื่อยๆ เอาเรื่องเขามาแฉเรื่อยๆ มันเหมือนเราทำให้ชีวิตเขาพัง ทำให้มีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก ทั้งๆ ที่เขาปรับปรุงตัวเองทุกอย่างแล้ว เราควรที่จะให้โอกาสมากกว่าที่จะซ้ำเติมเขาไปเรื่อยๆ การเปิดเผยความผิดพลาดในอดีตของผู้อื่นผ่านโซเชียลอาจก่อความเสียหายต่ออีกฝ่ายไม่รู้จบ

#NextDoor

เรื่องย่อ

ความฝันที่จะมีชีวิตที่ดีของเอ็มมี่กลับมาพังทลายลง เมื่อคอนโดที่เอ็มมี่เพิ่งซื้อมีเพื่อนบ้านเป็นฆาตกรที่เคยเห็นในข่าวดัง เอ็มมี่จึงพยายามหาหลักฐานมายืนยันกับโลกโซเชียลว่าเธอไม่ได้คิดไปเอง

นำแสดงโดย แพต-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช

กำกับโดย นิทรรศ สินวัฒนกุล

#ImWithYou

เรื่องย่อ

หลังจากคุยกันผ่านแชทจนกลายเป็นคนพิเศษ โอมก็แอบนัดเจอกับโจเป็นครั้งแรก แต่ความจริงกลับไม่เป็นอย่างที่โอมคิด เมื่อโจไม่มาตามนัดและเอาความลับที่โอมชอบผู้ชายไปเปิดเผย

นำแสดงโดย ริว-อิงครัต ดำรงศักดิ์กุล, สุทธิรักษ์ ทรัพย์วิจิตร, ชยพัทธ์ วิรัตน์โยสินทร์

กำกับโดย นิทรรศ สินวัฒนกุล