7 มิถุนายน 2564: สหประชาชาติ ประเทศไทย (UN Thailand) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เปิดตัวแคมเปญ Decade of Action, Decade of Innovation ทศวรรษแห่งการลงมือทำ ทศวรรษแห่งนวัตกรรม เพื่อก้าวใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อส่งเสริมการใช้โซลูชั่นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาของโลกในอนาคต ในช่วงสนทนา กลุ่มอินฟลูเอ็นเซอร์ได้ร่วมแบ่งปันมุมมองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน เจ้าของเพจ หมอแล็บ แพนด้า ดิจิทัลมีเดียสร้างความเข้าใจ และความร่วมมือฝ่าวิกฤติโควิด-19 คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ: เทคโนโลยีจะช่วยทำให้เด็กนักเรียนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ คุณริชชี่ อรเณศ ดีคาบาเลส และ คุณเบิ้ล ปทุมราช อาร์สยาม ตัวแทนคนบันเทิงรุ่นใหม่เพื่อชุมชน สร้างความมั่นคงทางรายได้ด้วยการเกษตร
SDGs คือ เป้าหมายระดับโลก 17 เป้าหมาย ที่มีความเชื่อมโยงกัน ถูกออกแบบมาให้เป็นพิมพ์เขียวเพื่อบรรลุอนาคตที่ดีขึ้นและยั่งยืนมากขึ้นสำหรับทุกคน เป้าหมายดังกล่าวให้ความสำคัญในการขจัดความยากจนและการกีดกันต่างๆ ซึ่งต้องดำเนินควบคู่ไปกับกลยุทธ์การพัฒนาสุขภาพและการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้ง การรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอนุรักษ์ท้องทะเลและป่าไม้
สหประชาชาติ ประเทศไทย มีหน้าที่ในการสร้างความสำเร็จเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่ให้ความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน สหประชาชาติ ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับ ดีป้า ในการรณรงค์แคมเปญ Decade of Action, Decade of Innovation ด้วยความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีพลังในการลดความเหลื่อมล้ำ สามารถสร้างโซลูชั่นนวัตกรรมสำหรับการใช้ชีวิตสมัยใหม่ สร้างโอกาสให้กับประชาชนและองค์กรให้เติบโตในเศรษฐกิจดิจิทัล โดย ดีป้า จะแบ่งปันความรู้จากโครงการในประเทศไทยและข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในมิติต่าง ๆ เช่น อีเลิร์นนิง เกษตรอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น สำหรับเอสเอ็มอี เพื่อสร้างความตระหนักในเป้าหมายระดับโลกและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทุกสาขาอาชีพในการสร้างและมีส่วนร่วมแก้ไขความต้องการพัฒนาในอนาคตของโลก
คุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประเทศไทย กล่าวว่า “การบรรลุวาระพัฒนา 2030 และ SDGs เป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สื่อมวลชน เยาวชน นักวิชาการ และพันธมิตรด้านการพัฒนาอื่นๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ นวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายระดับโลก ความร่วมมือระหว่างสหประชาชาติ ประเทศไทย และ ดีป้ามีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมโซลูชันส์ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ SDGs”
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า “ทศวรรษนี้ได้มอบความท้าทายมากมาย สิ่งที่สำคัญกว่าที่เคยคือเราได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยแก้ไขปัญหา ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นว่าดิจิทัลสามารถช่วยธุรกิจต่างๆ ได้อย่างไร และตอนนี้เราต้องขยายและเร่งการนำไปใช้ รวมทั้งสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อกระจายประโยชน์ให้ทั่วถึงทุกมุมของประเทศ ภายในสิ้นทศวรรษ ระดับของการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นตัวกำหนดการเติบโต การเพิ่มผลิตภาพ และการพัฒนามนุษย์ และสิ่งสำคัญคือจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
วิสัยทัศน์ของสำนักงานฯ ในการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไม่ข้างหลัง ทำงานที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย การทำให้ประชาชนไทย มีความรู้ด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี การสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม และการทรานสฟอร์มทั้งภาคการเกษตร การผลิต และธุรกิจบริการ ซึ่งเน้นการลงมือทำผ่านกระบวนการที่เน้นให้ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนเกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน โดยเน้นย้ำว่าเป็นสิ่งที่คนไทยควรเริ่มทำในวันนี้ โดย ดีป้า จะเป็นผู้ที่นำสิ่งใหม่ๆ เพื่อจะทำให้คนไทย perform better, think faster, live better”
แคมเปญ Decade of Action, Decade of Innovation ประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ ผู้คน (PPEOPLE) สิ่งแวดล้อม (PLANET) ความมั่งคั่ง ( PROSPERITY) และความร่วมมือ (PARTNERSHIP)
มิติด้านผู้คน (PPEOPLE) ชี้ให้เห็นว่าเราได้รับผลกระทบจากโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเทคโนโลยีสามารถส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างไร เช่นเดียวกับการค้นพบวิธีในการปิดช่องว่างการเชื่อมต่อและลดความเหลื่อมล้ำซึ่งอาจเพิ่มขึ้นหากไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ อีเลิร์นนิง ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งเป็นวิธีในการขจัดช่องว่างทางดิจิทัลและสร้างสังคมดิจิทัลที่ครอบคลุม
มิติสิ่งแวดล้อม (PLANET) มุ่งเน้นประเด็นต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริโภคอย่างมีสำนึก การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อสร้างเมืองให้มีความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นที่สิ่งแวดล้อม จากการเปลี่ยนแปลงวิธีสร้างและจัดการพื้นที่ในเมือง ไปสู่การปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ การสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียว พัฒนาการวางผังเมือง และการจัดการในรูปแบบที่สร้างการมีส่วนร่วมและครอบคลุมทุกกลุ่มสังคม
มิติความมั่งคั่ง (PROSPERITY) จัดการกับปัญหาในอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ที่ต้องเผชิญขณะที่เปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ รวมทุกกลุ่มสังคม โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย เช่น การท่องเที่ยวและเกษตรกรรม ร่วมค้นหาว่าเราจะสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหลังเกิดโรคระบาดได้อย่างไร และการนำประโยชน์จากเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลมาปรับใช้กับการเกษตร นั้นมีความสำคัญเช่นเดียกับการพัฒนาการเติบโตของอีคอมเมิร์ซและการสร้างที่ทำงานสู่ระบบดิจิทัล
มิติความร่วมมือ (PARTNERSHIP) ตระหนักถึงความสำคัญของกลุ่มต่างๆ ในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน และฉายภาพความสำเร็จจากความร่วมมือของกลุ่มคนประเภทต่างๆ ธุรกิจ และองค์กร ที่อาจสร้างผลลัพธ์เกินความคาดหมาย การระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างตัวอย่างมากมายในความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยเหลือสังคม
แคมเปญ Decade of Action, Decade of Innovation ดำเนินไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนลงมือทำเพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคมไทยเพื่อแก้ไขปัญหาในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ จะมีกิจกรรม Facebook Live เพื่อให้เหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ได้ร่วมพูดคุยถึงความท้าทายในมิติต่างๆ และแบ่งปันประสบการณ์และกิจกรรมลงบนโซเชียลมีเดีย โดยใช้ #SDGs
มุมมองอินฟลูเอ็นเซอร์ต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
หมอแล็บแพนด้า: ใช้ดิจิทัลมีเดียสร้างความเข้าใจโควิด-19 และสร้างความร่วมมือฝ่าวิกฤติ ซุ่มทำโรงพยาบาลสนามอย่างดีจากตู้คอนเทนเนอร์
“สิ่งที่ทำมาโดยตลอดคือการโพสต์ให้ความรู้ที่ถูกต้อง ตัวเองไปศึกษาจากแหล่งข้อมูล งานวิจัยที่เชื่อถือได้ เอามาแปลเป็นภาษาง่ายๆ ให้คนเข้าใจโรคโควิด 19 และการป้องกันตัวเอง ทำให้คนได้ความรู้ที่ถูกต้องและไม่ตื่นตระหนก ดูแลตัวเองและดูแลสังคมไปด้วย นอกจากเพจที่ให้ความรู้อยู่ตลอด เราอยากให้โควิดจบเร็วที่สุดในแบบที่เราทำได้จึงใช้ความรู้ด้านแลป เครื่องมือแพทย์ สร้างรถตรวจเชิงรุกไปตามชุมชน เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อจากชุมชนไปรักษา ให้ชุมชนปลอดภัย ไม่ให้ประชาชนต้องไปแออัด กันที่โรงพยาบาล เป็นคันแรกของประเทศไทย และใช้กันอย่างแพร่หหลายมาก และร่วมมือกับหลายภาคส่วน เช่น กรุงเทพมหานคร คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อสร้างรถคันเดียวที่สามารถตรวจครั้งเดียว พร้อมกันได้ 3 ราย ทำให้สามารถตรวจได้ 3,000 เคส ต่อวัน ทำให้ตรวจเชิงรุกได้เร็ว ประกอบกับการฉีดวัคซีนควบคู่ ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
หมอแล็บเผยว่ากำลังซุ่มทำโปรเจคใหม่ จะนำตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่ได้ใช้แล้ว มาแบ่งเป็นห้องต่างๆ ห้องความดันลบสำหรับผู้ป่วย และห้องความดันบวกสำหรับเจ้าหน้าที่ แพทย์ สามารถประยุกต์ทำเป็นห้องตรวจโรค สวอป ให้คำปรึกษา หรือ ไอซียู หากนำตู้คอนเทนเนอร์หลายๆตู้มาประกอบกันสามารถทำเป็นโรงพยาบาลสนามที่มีคุณภาพ
สุดท้ายนี้ หมอแล็บได้เน้นย้ำการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยั่งของสหประชาชาตินั้น ประเด็นความร่วมมือ สำคัญมากที่จะทำให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติไปได้ และทำให้การพื้นฟูประเทศดีขึ้นกว่าเดิมได้
ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ: เทคโนโลยีจะช่วยทำให้เด็กนักเรียนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้
จุดเริ่มต้นของ Start Dee เกิดขึ้นจากการเห็นปัญหาว่าการศึกษาที่มีคุณภาพเข้าถึงยากมาก เพราะเหตุผล 3 มิติ ได้แก่ คุณภาพของระบบการศึกษา คุณภาพการเรียนการสอนที่แตกต่างกันแต่ละโรงเรียน และนักเรียนต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษที่สูงมากเมื่อต้องการความรู้นอกห้องเรียน ทั้งนี้ ทางออกที่ยั่งยืนคือภาครัฐต้องทำให้โรงเรียนที่มีคุณภาพอยู่ใกล้กับเด็กทุกคน
และเพื่อผลักดันการศึกษาบนดิจิทัลแพลตฟอร์มยังไงให้มีมาตราฐานมากขึ้นเป็นมาตราฐานเดียวกัน พริษฐ์ มองว่า “ภาครัฐไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างขึ้นมาใหม่หมด แต่วางกฎ กติกาและระบบเพื่อใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มหรือเนื้อหาที่ภาคเอกชนผลิตมาได้มากที่สุด และควรสร้างความเข้าใจว่าการเรียนออนไลน์ที่ดีไม่ใช่การคัดลอกเนื้อหาในห้องเรียนมาแปะไว้นออนไลน์ แต่ควรออกแบบการเรียนออนไลน์ให้ตรงตามความเป็นจริง เพราะพฤติกรรมการเรียนออนไลน์กับการเรียนในห้องไม่เหมือนกัน การเรียนออนไลน์ไม่ได้มาทดแทนการเรียนในห้อง เพราะบางรูปแบบทดแทนกันไม่ได้ เราต้องการการปฏิสัมพันธ์กับครูและนักเรียนในการพัฒนาทักษะเหล่านั้น มองการเรียนออนไลน์จะเสริมการเรียนในห้องเรียนยังไง แนวคิดที่อยากจะแชร์คือ ห้องเรียนกลับด้านหรือ flip classroom การที่ครูใช้เวลา 1 คาบในการบรรยาย ครูสามารถอัดวิดีโอให้เด็กดูที่บ้าน เพื่อให้เด็กมาพร้อมข้อมูลและใช้เวลา 1 ชั่วโมง ในการพัฒนาทักษะ การคิดวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีม การวางบทบาทระหว่างครูและเทคโนโลยี ให้ครูมาทำบทบาทที่เทคโนโลยีทำไม่ได้มากขึ้น
คุณริชชี่ อรเณศ ดีคาบาเลส และ คุณเบิ้ล ปทุมราช อาร์สยาม ตัวแทนคนบันเทิงรุ่นใหม่เพื่อชุมชน สร้างความมั่นคงทางรายได้ด้วยการเกษตร
อาหารคือความมั่นคงที่ทุกคนขาดไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19 อาหารเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักที่ยังดำเนินต่อไปได้ หลายปีมานี้เราจะเห็นคนบันเทิงทำการเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะคนบันเทิงรุ่นใหม่อย่างคุณริชชี่ อรเณศ ดีคาบาเลส และเบิ้ล ปทุมราช ที่ใช้จิทัลเทคโนโลยีและมุมมองของคนรุ่นใหม่พัฒนาอาชีพเกษตกรรมของครอบครัวซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับครอบครัวแล้ว ยังเผื่อแผ่สร้างความมั่นคงทางรายได้ให้ชุมชนสามารถอยู่ได้และไม่ต้องจากบ้านเพื่อไปหางานทำต่างถิ่น
คุณริชชี่ อรเณศ ดีคาบาเลส อัพเดตการทำไร่ชา
“ครอบครัวริชชี่เป็นเจนเนอร์เรชั่นที่ 4 เป็นผู้นำและดูแลในดอยปู่หมื่น อาชีพหลักของชุมชนคือการปลูกชา เมื่อก่อนสมัยคุณตานำเกษตรเข้ามาทดแทนการปลูกฝิ่น ในยุคที่ฝิ่นผิดกฎหมายเราได้รับชาต้นแรกจากในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงเปลี่ยนอาชีพจากปลูกฝิ่นทั้งหมดมาทำไร่ชา นับแต่นั้นมาที่บ้านดูแลรับซื้อชา พัฒนาชา ไม่ใช่แค่ดอยตัวเอง แต่เราเป็นหมู่บ้านตัวอย่างจึงคอยช่วยส่งเสริมการปลูกชาดอยข้างเคียงและพื้นที่รอบๆ จนปัจจุบันนี้การทำไร่กลายเป็นอาชีพหลัก
ริซ พยายามคิดให้ชาวบ้านมีความมั่นคงขึ้น มีตลาดมากขึ้น เราอยากเพิ่มผลผลิต แต่ก่อนส่งออกไปที่จีน ในฐานะคนรุ่นใหม่เราอยากทำแบรนด์ของไทย จึงทำแบรนด์ตัวเองขึ้นมา เป็นชาดีท็อกซ์โดยนำชามาแปรรูปเป็นการช่วยเพิ่มช่องทางการขายและเพิ่มยอดขาย ช่วยให้ชาวบ้านมีความมั่นคงมากขึ้น และเราก็พอมีชื่อเสียงในการประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้คนอยากรู้ที่มา เราจึงพรีเซนต์ถึงการท่องเที่ยวชุมชน บนดอยทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ออแกนิกหมดเลย ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสวิถีชาวบ้าน เก็บชา การท่องเที่ยวชุมชนซึ่งรายได้ส่วนนึงเป็นของชาวบ้าน แบรนด์ขายออนไลน์ ริชวางแผนว่าเมื่อเปิดประเทศจะส่งออกด้วย ชาผลิตด้วยกระบวนการธรรมชาติเพื่อช่วยระบาย และจะผลิตชาเพื่อสุขภาพ อยากเพิ่มมูลค่าเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น มั่นคงเพื่อให้อยู่ในชุมชนตัวเองได้ไม่ต้องออกไปหางาน บนดอยเป็นต้นน้ำ ทุกอย่างออแกนิก เพื่อให้คนเห็นถึงคุณค่าที่มี
“ริชชี่มองว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนเราทุกคนสามารถทำได้ด้วยการส่งเสริมพัฒนาสิ่งที่เรามีในชุมชน รายได้ส่วนหนึ่งเอาไปช่วยชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ นอกจากนี้ยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้ชุมชน เพราะเมื่อเห็นผลผลิตของชุมชนเป็นเรื่องที่ดี เราก็ไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างคุณค่า โดยเฉพาะช่วงนี้ทุกคนกลับบ้านก็จะสังเกตุได้ว่าเรามีอะไรดี พัฒนาตรงนั้น ช่วยทำให้มันมั่นคงและพัฒนามากขึ้น”
ส่วนหนุ่มเบิ้ล ปทุมราช แม้ว่าจะประสบความสำเร็จในด้านการเกษตรจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและการเกษตรแบบผสมผสานแล้ว เบิ้ลร่วมกับแฟนคลับระดมทุนจัดกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อส่งต่อเทคนิคการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ชุมชนมีรายได้ที่มั่นคงตามมาด้วยเช่นกัน “เบิ้ลเกิดในครอบครัวชาวนา ผมเชื่อเรื่องการเกษตรว่าสามารถอยู่ได้ หากวางแผนและใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ ช่วงที่เบิ้ลเป็นนักร้อง กลับไปคุยกับคุณพ่อ ท่านอยากทำนาตลอดชีวิต แม้ว่าเบิ้ลจะดังหรือไม่ จึงได้ศาสตร์พระราชาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 จึง เพื่อทำนาอย่างไรให้ผลผลิต เหลือและแบ่งปันครอบครัวพี่น้องได้ และ ใช้มุมมองของนักร้องของชาวบ้านและแฟนคลับ นำเงินกลับไปทำกิจกรรมกับผู้สูงอายุในชุมชน เป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อถ่ายทอกแนวคิการเกษตรแบบผสมผสาน แบ่งพื้นที่ทำนามาทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่
ในแต่ละปีพวกเรานำงบประมาณจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น เชิญชาวบ้านทุกคนมาดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว ประกวดแปลงเกษตรดีเด่น มีรางวัล แข่งขันในระดับตำบล และระดับอำเภอ แต่งบประมาณตรงนี้ยังไม่มากเพราะเป็นงบประมาณส่วนตัวของเบิ้ลและแฟนคลับ
ตอนนี้เบิ้ลแบ่งรายได้ให้คุณพ่อและพี่ชายทำนา ไม่ต้องขายข้าวแต่ให้สหกรณ์เพื่อแบ่งให้ชาวบ้าน นอกจากนี้อยากมีผลิตภัณฑ์ข้าวจากชาวนา แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และเป็นคนกลางช่วยชาวนาขายข้าว ให้เขามีรายได้ไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลงซึ่งไม่ต้องเจอกับความผกผันกับราคาข้าวในแต่ละปี”