Klook แพลตฟอร์มการจองกิจกรรมและบริการด้านการท่องเที่ยวชั้นนำของโลก ได้ประกาศว่า บริษัทได้บรรลุข้อตกลงด้านเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท โดยเงินลงทุนหลักในระดับ Series E นี้ ได้รับจากบริษัทผู้ลงทุนรายใหม่คือ บริษัท Aspex Management ซึ่งเป็นผู้ลงทุนที่เน้นการลงทุนในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก นอกจากนั้นยังมีกลุ่มผู้ลงทุนรายเดิมได้แก่ Sequoia Capital China, Softbank Vision Fund 1, Matrix Partners China, และ Boyu Capital ด้วย
ในช่วงปีที่ผ่านมา Klook เผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งทำให้ทางบริษัทได้เร่งปรับกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างรวดเร็ว โดยการปรับกลยุทธ์ได้ทำผ่าน 2 แนวทางหลัก ๆ แนวทางแรก ได้แก่ พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในการจองกิจกรรมบริการท่องเที่ยว และแนวทางที่สองคือ การนำสินค้าท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์มาให้บริการ เช่น Staycation และ บริการเช่ารถ จากการปรับกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้เห็นว่า ในกลุ่มประเทศที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่น สิงคโปร์, ฮ่องกง และไต้หวันนั้น มีการจองกิจกรรมท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จนตัวเลขการจองพุ่งไปเกือบเท่ายอดการจองในช่วงก่อนการระบาด ทั้งนี้เพราะกลุ่มคนในท้องถิ่นเริ่มค้นหาและทดลองกิจกรรมและบริการการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อทดแทนการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ
อีธาน หลิน ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Klook กล่าวว่า “ท่ามกลางความท้าทายของปี 2563 Klook ได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าตัดสินใจของบริษัท เราสามารถพลิกความท้าทายและอุปสรรคไปสู่โอกาสและการเติบโตได้ด้วยนวัตกรรมและความคล่องแคล่วฉับไวขององค์กร ทั้งนี้เราได้จับตามองพฤติกรรมของนักเดินทางในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่านักเดินทางต่างต้องพยายามอดกลั้นความต้องการที่จะออกเดินทางท่องเที่ยว โดยในขณะที่ยังเดินทางไปต่างประเทศไม่ได้ พวกเขาก็จะหันมาให้ความสนใจในกิจกรรมท่องเที่ยวในประเทศ และค้นหากิจกรรมหรือประสบการณ์ใหม่ ๆ ในย่านที่คุ้นเคยเพื่อเป็นการทดแทน” อีธาน หลิน ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า “การลงทุนครั้งล่าสุดนี้จะช่วยตอกย้ำความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำในธุรกิจเทคโนโลยีการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี และจะช่วยเปลี่ยนสถานะจากการเป็นฝ่ายตั้งรับ มาเป็นฝ่ายรุก เนื่องจากสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ในขณะที่การท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะค่อย ๆ ฟื้นกลับมาอีกครั้ง”
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ธุรกิจในแวดวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากขนาดไหนจากภาวะการแพร่ระบาดของไวรัส แต่อย่างไรก็ตาม Klook ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัว และศักยภาพในการลุกกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว เรามั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า หลังสถานการณ์ COVID-19 การจองกิจกรรมการท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลจะยิ่งได้รับความนิยม และด้วยศักยภาพของ Klook ในการที่จะก้าวไปสู่การเป็น “แพลตฟอร์มครบวงจร” ที่ให้บริการด้านการจองกิจกรรมและบริการท่องเที่ยวครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค ทำให้เรายิ่งมั่นใจในการระดมทุนในครั้งนี้เป็นอย่างมาก” แอร์เมส ลี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลสารสนเทศ และผู้ก่อตั้ง Aspex Management กล่าว
Klook เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล มุ่งแก้ปัญหาและยกระดับการบริการท่องเที่ยวให้ผู้ประกอบการ
ในช่วงเวลาที่หลายประเทศต้องเผชิญหน้ากับการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง Klook ได้มองเห็นแนวโน้มในแวดวงผู้ประกอบการการท่องเที่ยวว่า ผู้ประกอบการหลายท่านให้ความสนใจและเห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับเปลี่ยนและพัฒนาธุรกิจให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยจะเห็นได้ว่า แม้ในช่วงเวลาที่การแพร่ระบาดยังคงทวีความรุนแรง แต่ Klook สามารถเพิ่มจำนวนกิจกรรมและบริการการท่องเที่ยวได้สูงขึ้นถึง 150% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 จากแนวโน้มดังกล่าว บริษัทจึงตั้งเป้าว่า จะนำเงินระดมทุนก้อนใหม่นี้มาลงทุนและพัฒนาระบบที่เรียกว่า SaaS ที่จะช่วยแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการการท่องเที่ยวได้เพิ่มขีดความสามารถในการ สร้าง จัดการ และยกระดับการให้บริการของธุรกิจท่องเที่ยวไปกับ Klook
ปัจจุบัน ระบบ SaaS ได้ถูกนำมาใช้กับผู้ประกอบการมากกว่า 2,500 บริษัททั่วโลก และสามารถสร้างยอดการจองได้มากกว่าหนึ่งล้านครั้ง ด้วยศักยภาพของระบบ SaaS นี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการจำนวนมากสามารถที่จะปรับเปลี่ยนและกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจ โดยผู้ประกอบการสามารถสร้างหน้ากิจกรรมหรือบริการท่องเที่ยวออนไลน์บน Klook ได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้ระบบดังกล่าวได้ถูกออกแบบและสร้างโดยอาศัยข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับหลากหลายหน้าที่ เช่น การดำเนินการออกตั๋ว, การจัดจำหน่าย, การจัดการสินค้า, การตลาด และอื่นๆ
“พวกเรากำลังก้าวกระโดดเข้าสู่ยุคใหม่ของโลกดิจิทัล จากเดิม นักท่องเที่ยวคุ้นชินกับการจองกิจกรรมท่องเที่ยวแบบออฟไลน์หรือใช้ระบบการจองแบบเดิมๆ แต่ ณ วันนี้ ระบบเหล่านั้นไม่สามารถตอบโจทย์โลกในยุคหลัง COVID-19 ได้อีกต่อไป ก่อนหน้านี้ Klook มีการทำงานร่วมกันกับผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยเพื่อค้นหาปัญหาหรืออุปสรรคเพื่อจะพัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยีรวมถึงระบบต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น และด้วยเงินระดมทุนในครั้งนี้ จะเปรียบเหมือนการเติมสรรพาวุธให้เรา ช่วยเพิ่มศักยภาพให้บริษัทสามารถขับเคลื่อนและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปจนถึงสามารถเปลี่ยนแปลงและเพิ่มพลังให้กับธุรกิจท่องเที่ยวในอนาคตได้อย่างแท้จริง” เอริค น็อก ฟาห์ ประธานฝ่ายปฏิบัติการและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Klook กล่าว
ในครึ่งปีหลังของ พ.ศ 2563 Klook ได้ทดลองพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ที่สามารถเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการการท่องเที่ยว ได้แก่
- Contact Tracing System: ระบบดังกล่าวนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายและได้เริ่มต้นให้บริการกับผู้ประกอบการกิจกรรมท่องเที่ยวในฟิลิปปินส์ โดยระบบนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถติดตามตัวลูกค้าได้ ในกรณีที่หากพบว่ามีผู้ติดเชื้อ และต้องการแจ้งหรือติดตามกลุ่มลูกค้าที่อาจเป็นกลุ่มเสี่ยง
- Attraction Plus: ระบบนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาใช้ในกิจกรรมการท่องเที่ยวและสถานประกอบการเป็นหลัก โดยจะช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย ตั้งแต่ เช็คเวลาที่แท้จริงในการรอคิวเครื่องเล่น, ค้นหาร้านอาหาร ไปจนถึงแนะนำแผนการท่องเที่ยว
- Klook Live!: ฟังก์ชันการ Live บนแอพพลิเคชัน Klook ซึ่งลูกค้าสามารถเข้าถึงดีลพิเศษจากผู้ประกอบการได้อย่างสะดวก รวมถึงสามารถโต้ตอบพูดคุยกับ Klook ได้อย่างสนุกสนานผ่านการ Live โดยเบื้องต้นพบว่า Klook Live สามารถเพิ่มเปอร์เซ็นต์ยอดขายเมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้เข้าชมเว็บไซต์/สินค้า ได้สูงขึ้นถึง 4 เท่า
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมมือกับองค์การการท่องเที่ยวในแต่ละประเทศ เช่น องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวฮ่องกง, องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น, องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี, องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวสิงคโปร์, และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยสนับสนุนและเสริมความแข็งแกร่งในด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดย Klook ได้ถูกรับเลือกให้เป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการในโครงการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศสิงคโปร์ “SingaporeRediscovrs Voucher (SRV)” ให้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับจองกิจกรรมท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศสิงคโปร์