นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน TAPA 2023 หรือ งานแสดงสินค้าชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่ง ครั้งที่ 9 โดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) สมาคมผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ทดแทนไทย (TAPAA) สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (THAI SUBCON) และ สมาคมผู้ค้าอะไหล่วรจักร (WASA)
ภายใต้แนวคิด “Sustainable for The Future” งานที่รวบรวมผู้ผลิตสินค้าชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่ง กว่า 455 บริษัท 787 คูหา จากไทยและทั่วเอเชีย 5 – 8 เมษายน นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค EH 102 – 104
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “อุตสาหกรรมชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์และอุปกรณ์ตกแต่ง เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย มีการจ้างงานภายในประเทศกว่า 550,000 คน มูลค่าการส่งออกชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์และอุปกรณ์ตกแต่ง รวมถึงผลิตภัณฑ์ยางสำหรับยานพาหนะ เฉลี่ย 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 640,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.5 ติดอันดับ 1 ใน 4 ของสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดของประเทศไทย
และไทยยังเป็นฐานการผลิตรถปิคอัพและรถยนต์ประหยัดพลังงานที่มีศักยภาพอีกด้วย โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ อินโดนีเซีย โดยมีส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ และส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ
สำหรับงาน TAPA 2023 ครั้งนี้ เป็นการกลับมาจัดงานเต็มรูปแบบอีกครั้งในรอบ 5 ปี ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่งของโลก และพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ภายในประเทศแล้ว ยังสอดรับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการภาพลักษณ์อุตสาหกรรมฯ “Sustainable for the Future”
สร้างความตระหนักให้กับผู้ประกอบการและนักธุรกิจที่เข้าร่วมงานแสดงสินค้ากว่า 455 บริษัท 787 คูหา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการก้าวสู่การสร้างธุรกิจแบบยั่งยืน ซึ่งงาน TAPA 2023 นี้จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่งของประเทศไปสู่ตลาดโลก สร้างโอกาสทางการค้า ตลอดจนผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำของอุตสาหกรรม ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลกได้อย่างยั่งยืน”