ไม่มีหมวดหมู่ » เปิดวิสัยทัศน์หัวเว่ย ก้าวอย่างมั่นคงสู่ยุคอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G

เปิดวิสัยทัศน์หัวเว่ย ก้าวอย่างมั่นคงสู่ยุคอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G

28 ตุลาคม 2022
247   0

 งานประชุม Ultra-Broadband Forum 2022 เปิดฉากวันนี้ที่กรุงเทพมหานคร โดยนาย เดวิด หวัง กรรมการบริหารและประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์และโซลูชันไอซีที ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘ก้าวอย่างมั่นคงสู่ยุคอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G’ และกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะเกิดขึ้นในหลายภาคส่วนภายในปีพ.ศ. 2573 เช่น ที่อยู่อาศัยอัจฉริยะ แคมปัสอัจฉริยะ และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสำหรับภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังเน้นย้ำอย่างชัดเจนว่าเทคโนโลยีอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G จะเป็นก้าวสำคัญบนเส้นทางสู่โลกอัจฉริยะและจุดประกายให้อุตสาหกรรมดำเนินการในสี่ขั้นตอนสำคัญเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งยังผลักดันผู้เล่นในอุตสาหกรรมร่วมมือกันเพื่อก้าวสู่ยุคอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G ได้เร็วยิ่งขึ้น

ขณะที่เรามุ่งหน้าสู่โลกอัจฉริยะในปี พ.ศ. 2573 ความเร็วเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะสูงถึง 10 Gbit/s ซึ่งถือเป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากความเร็วปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 1 Gbit/s นอกจากนี้ ที่อยู่อาศัยในปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย Wi-Fi โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5 ถึง 20 เครื่อง และจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตเพราะเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมจะได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลให้สถิติอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเพิ่มขึ้นถึง 150 ถึง 200 เครื่อง ดังนั้นในอนาคตทุกส่วนของบ้านจะต้องเข้าถึงเทคโนโลยีไฟเบอร์

ภายในปี พ.ศ. 2573 เครือข่าย Wi-Fi สำหรับแคมปัสขนาดกลางและขนาดใหญ่จะมอบประสบการณ์การเชื่อมต่อที่ความเร็ว 10 Gbit/s และจะต้องรองรับการดำเนินการและการจัดการที่ชาญฉลาด องค์กรต่าง ๆ จะต้องมีเครือข่าย Wi-Fi ที่มอบแบนด์วิดท์ขนาดใหญ่ ประสบการณ์ระดับพรีเมียมและบริการอินทราเน็ตแบบครบวงจร ในขณะที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสำหรับภาคอุตสาหกรรมจะต้องการแบนด์วิดท์ที่สูงกว่า 10 Gbit/s และค่าความหน่วงที่ต่ำกว่าหนึ่งมิลลิวินาที องค์กรต่าง ๆ จะประยุกต์ใช้กลยุทธ์มัลติคลาวด์ซึ่งเป็นเครือข่ายที่รองรับการกำหนดและเปลี่ยนแปลงเส้นทางแบบไดนามิก และเราจะบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 10 เท่า รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การดำเนินการ และการบำรุงรักษาเครือข่าย ด้วยแนวคิดการพัฒนาเครือข่ายด้วยระบบอัตโนมัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“อัลตราบรอดแบนด์ 5.5G จะเป็นก้าวสำคัญบนเส้นทางสู่โลกอัจฉริยะ เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ผู้เล่นในอุตสาหกรรม รวมถึงองค์กรที่กำหนดมาตรฐานการใช้งาน หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ปฏิบัติงาน และผู้จำหน่ายอุปกรณ์ จะต้องร่วมมือกันผลักดันเทคโนโลยีอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G สร้างเครือข่าย 5.5G และพัฒนาอีโคซิสเต็ม 5.5G ที่แข็งแกร่งไปพร้อมกัน เราจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ก้าวหน้าและมุ่งหน้าอย่างมั่นคงสู่ยุคอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G ร่วมกัน” นายเดวิด หวัง กล่าวย้ำ

ทั้งนี้ สี่ปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมต้องดำเนินการร่วมกันเพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G  ได้แก่:

ประการแรก กำหนดมาตรฐานใหม่และบรรลุฉันทามติทั่วทั้งอุตสาหกรรม

สถาบันมาตรฐานโทรคมนาคมยุโรป (ETSI) เริ่มสร้างมาตรฐานของ F5G Advanced ด้วยมาตรฐาน Release 3 และสมุดปกขาว ETSI: Fixed 5th Generation Advanced and Beyond ที่ได้รับการปรับปรุงโดยเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใยแก้วนำแสงถูกเผยแพร่ในเดือนกันยายนพ.ศ. 2565 และภายในปีพ.ศ. 2568 ที่อยู่อาศัยอัจฉริยะและเซนเซอร์ใยแก้วนำแสงจะได้รับการปรับตามมาตรฐาน

ในส่วนของอุตสาหกรรมการเชื่อมต่อข้อมูล (IP) หัวเว่ยเผยแพร่สมุดปกขาว Net5.5G ระหว่างการประชุมครั้งนี้ โดยมีแนวคิดว่าภายในปี พ.ศ. 2566 Net5.5G จะเพิ่มอัตราการรับส่งข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี SRv6 แบบครบวงจร และภายใน พ.ศ. 2568 เครือข่าย IP น่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านการประมวลผลและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ซึ่งจะมอบประสบการณ์การใช้งานเครือข่ายและการรับประกันบริการที่ดีขึ้นสำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม

ประการที่สอง ร่วมส่งเสริมมาตรฐานการใช้งานตลอดการใช้งานผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การใช้งาน และการดำเนินงาน

เทคโนโลยี GPON, 10G PON และ 50G PON Combo จะรองรับเครือข่าย ODN ของผู้ให้บริการ และทำให้การอัปเกรดเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สถาปัตยกรรม C-WAN จะสามารถนำมาใช้งานได้บนเครือข่าย FTTR ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความเร็วระดับกิกะบิต Gbit/s ให้เสถียรทั่วทั้งบ้าน และลดเวลาบริการข้ามเครือข่ายให้น้อยกว่า 20 มิลลิวินาที

ในการส่งสัญญาณด้วยใยแก้วนำแสง สเปกตรัมสำหรับเครือข่าย 400G WDM จะเพิ่มขึ้นจาก 8 THz เป็น 12 THz โดยเพิ่มความยาวคลื่นมากขึ้นถึง 50% และทำให้ศักยภาพการส่งสัญญาณสูงถึง 100T ในส่วนของเทคโนโลยี metro WDM ซึ่งเป็นเทคโนโลยี WDM ใหม่ที่รวมความยาวคลื่นไว้ด้วยกัน จะเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการใช้งานได้อย่างมาก และสนับสนุนการทำงานของเทคโนโลยี WDM ที่ไซต์อย่างมีประสิทธิภาพ

ในด้าน IP Wi-Fi 7 เทคโนโลยี CO-SR และ CO-OFDMA จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานระหว่างจุดเชื่อมต่อต่างๆ และปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานทั้งเครือข่าย ซึ่งจะต้องการการสนับสนุนจากเทคโนโลยีอื่น ๆ  เช่น UL OFDMA และ UL MU-MIMO เพื่อให้การเชื่อมต่อมีเสถียรภาพ เทคโนโลยี APN6 และ SRv6 ยังช่วยตรวจจับประสิทธิภาพการประมวลผลและข้อกำหนดการใช้งานและประมวลทรัพยากรระบบคลาวด์ เพื่อให้บริษัทต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยี IP แบบ deterministic จะช่วยลดการรบกวนระหว่างการรับส่งข้อมูลจำนวนมาก และลดความล่าช้าของสัญญาณบนเครือข่าย IP ให้เหลือน้อยกว่า 20 ไมโครวินาที

ประการที่สาม เปิดตัวการใช้งานอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G อย่างรวดเร็วขึ้น โดยการพัฒนานโยบายและเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง

มาตรฐานและเทคโนโลยีใหม่สามารถสร้างมูลค่าได้รวดเร็วขึ้นเมื่อมีเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง รัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลควรปรับใช้นโยบายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการออกกลยุทธ์ด้านเครือข่ายในระดับประเทศ นโยบายเทคโนโลยีใยแก้วนำแสงและมาตรฐานการก่อสร้าง เพื่อเร่งการใช้งานเครือข่ายกิกะบิต FTTH จะทำให้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตใยแก้วสามารถเข้าถึงทุกห้องในบ้านทุกหลัง

ผู้ให้บริการก็มีบทบาทสำคัญในการร่วมผลักดันความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ด้วยการกำหนดสถาปัตยกรรมเครือข่ายเป้าหมายสำหรับปีพ.ศ. 2568 และ พ.ศ. 2573 นอกจากนี้ยังต้องเร่งการเปิดตัวเครือข่าย FTTH และ FTTR, เปิดใช้งานเทคโนโลยี metro WDM เพื่อเข้าถึงไซต์, อัปเกรดเครือข่าย IP เป็นเครือข่าย SRv6 และการใช้งานเทคโนโลยี 400G และ 800G สำหรับการส่งข้อมูลและเครือข่าย IP

ประการที่สี่ ค้นหาการประยุกต์ใช้งานใหม่ ๆ และฟูมฟักอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่ง

ผู้เล่นในอุตสาหกรรมและพันธมิตรในอีโคซิสเต็มต้องร่วมมือกันเพื่อค้นหาศักยภาพสูงสุดของอัลตราบรอดแบนด์ 5.5G เพราะเทคโนโลยีนี้จะสามารถรองรับศักยภาพการใช้งานที่เหนือระดับ และเมื่อบรรลุความเร็วระดับ 10 กิกะบิตต่อวินาที (10 Gbit/s) ทุกหนทุกแห่ง การเล่นเกมบน MetaVerse และการโต้ตอบแบบเรียลไทม์จะได้รับการใช้งานอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ การสำรวจหานวัตกรรมจะดำเนินต่อไปสำหรับสถานการณ์การใช้งานในแคมปัส เช่น สำนักงานเสมือนจริงและสำนักงานที่มาพร้อมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และบริการสำหรับองค์กรขนาดเล็ก เช่น เครือข่าย Wi-Fi แบบครบวงจร หัวเว่ยเน้นการสร้างพันธมิตรระหว่างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและบริษัทอินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นผู้เล่นที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเครือข่ายเชิงกำหนด และการเชื่อมต่อที่ปรับเปลี่ยนได้อย่างคล่องตัวในอินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยฟูมฟักการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมแบบอัตโนมัติและการเชื่อมต่อระดับองค์กรบนระบบมัลติคลาวด์

มาตรฐานนี้ยังเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอัลตราบรอดแบนด์อย่างต่อเนื่อง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการ FTTH ใหม่กว่า 790 ล้านคน และในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ผู้ใช้ 100 ล้านคนเริ่มใช้บริการกิกะบิต และในปีที่ผ่านมา บริการ FTTR ก็มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นอีกราวหนึ่งล้านคน

นอกจากนี้องค์กรต่าง ๆ ยังใช้งานเครือข่ายส่วนตัว OTN คุณภาพสูงประมาณ 50,000 สาย คลาวด์ส่วนตัว อีก 600,000 สายและจุดเชื่อมต่อ Wi-Fi 6 กว่า 27 ล้านจุดทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้นจากเครือข่าย 400G WDM 130 แห่ง เทคโนโลยี ROADM แบบออปติคัลทั้งหมดกว่า 15,000 รายการ และเครือข่าย IP ที่รองรับ SRv6 กว่า 100 เครือข่ายที่เปิดตัวแล้วทั่วโลก

ด้าน พล.อ.ต. ดร.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังได้ให้เกียรติขึ้นกล่าวในงาน Ultra-Broadband Forum 2022 ว่า “ผมขอกล่าวขอบคุณ บริษัท หัวเว่ย และ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ที่ได้จัดงานในครั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรมของทุกอุตสาหกรรมโดยรวม หลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 เทคโนโลยีดิจิทัลก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อภาครัฐและภาคเอกชน โดยที่ผ่านมา กสทช. ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้มีความพร้อมในการรองรับการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายบรอดแบรนด์เพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัล และเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย โดยในปี พ.ศ. 2566 แผนการพัฒนาของเราจะมุ่งเน้นไปที่เรื่อง “กิกะไทยแลนด์” ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับภาคเศรษฐกิจดิจิทัลและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย โดย กสทช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมที่สำคัญของประเทศไทย จะมุ่งมั่นสร้างคุณค่าทางเทคโนโลยีและคุณค่าทางสังคมให้กับสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนนโยบาย “Thailand 4.0” ของประเทศให้เป็นจริง เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับภาคเศรษฐกิจไทย และเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อการก้าวไปสู่ยุคใหม่ของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล”

นอกจากนี้ นายเจ้า ฮู้หลิน เลขาธิการ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ยังได้กล่าวในงานเดียวกันนี้ว่า “เปิดงาน Ultra-Broadband Forum 2022 เป็นงานที่นำพันธมิตรระดับโลกมารวมกันทุกปี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคส่วน และส่งเสริมความยั่งยืนของเครือข่ายบรอดแบนด์ในระบบนิเวศ สำหรับงานครั้งนี้ ผมต้องขอขอบคุณ หัวเว่ย และพันธมิตรทุกท่าน ที่ให้การสนับสนุนอย่างดีเยี่ยมมาโดยตลอด ซึ่งในปัจจุบัน เราจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที  รวมถึงยกระดับการลงทุนด้านไอซีทีของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาให้ชุมชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงบริการด้านไอซีทีได้ ผมขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนหน่วยงาน องค์กร และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านไอซีทีทุกฝ่าย ให้ร่วมกันเร่งขับเคลื่อนความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเชื่อมโยงถึงกันมากยิ่งขึ้น”