ไม่มีหมวดหมู่ » ครูอาจารย์ น้อมนำแนวพระราชดำรัส การเข้าถึง “เศรษฐกิจพอเพียง”โดยการลงมือทำ และเข้าใจระบบนิเวศน์แบบองค์รวม

ครูอาจารย์ น้อมนำแนวพระราชดำรัส การเข้าถึง “เศรษฐกิจพอเพียง”โดยการลงมือทำ และเข้าใจระบบนิเวศน์แบบองค์รวม

25 มกราคม 2022
734   0

ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว คือประโยคที่เราส่วนใหญ่ได้ยินและคุ้นเคยกันมานาน และรับรู้ว่าคือปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง หากถามว่าสิ่งที่รับรู้นั้น เรามีความเข้าใจเพียงใด หลายคนอาจตอบไม่ตรงกัน หรือมีความเข้าใจที่ไม่เหมือนกัน แต่เชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่จะได้ตำตอบเหมือนกันหรือคล้ายๆ กันคือ คำถามว่า จะทำอย่างไรเพื่อที่จะเดินไปถึงจุดนั้นได้ ?


จากกิจกรรม ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 14 ที่จัดโดย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี นำคณะ ครูอาจารย์ ที่ได้รับการคัดเลือกจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ตามรอยจุดกำเนิดทฤฎีใหม่ แนวคิดบวร และอาชีพพระราชทานครั้งแรก พร้อมร่วมถอดรหัสพระอัจฉริยภาพใน หลวงรัชกาลที่ 9 สู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ในโครงการตามรอยพระราชา “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 14” สัมผัสวิถีเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และท่องฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค อาชีพพระราชทาน แห่งแรกของประเทศไทย จังหวัด สระบุรี

สิ่งที่ครู อาจารย์ ได้รับจากการร่วมกิจกรรม และ “ลงมือทำ” ตลอดระยะเวลา 2 วันนั้น คือ “คำตอบ”เพราะในหลักสูตรการอบรม ครู อาจารย์ ตามโครงการฯ เป็นกิจกรรมที่ต้องการ สร้างแรงบันดาลใจ ให้กับ คณะครูอาจารย์ ในการร่วมกันสานต่อพระราชปณิธานของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้เข้าใจถึงศาสตร์พระราชา พร้อมร่วมกันสร้างนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด และการปลูกฝังคุณธรรม 4 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา เพื่อนำไปต่อยอดขยายผลในกระบวนการเรียนการสอนในวิชาที่สอน และหรือการสร้างเครือข่ายครูอาจารย์ทั้งในสถาบันและต่างสถาบัน หรือองค์กรภาคีอื่นๆ

โดยจะได้ ลงมือทำ ทั้งภาคทฤษฏี และ ภาคปฏิบัติ อาทิ กิจกรรมการทำปุ๋ย การทำน้ำยากำจัดแมลงจากสมุนไพร นำโดยนาย อำนาจ ขำมาลัย เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาพื้นที่วัดมงคลชัยพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สระบุรี ซึ่งได้รับความสนใจจากคณะครูอาจารย์ ร่วมลงมือผสมน้ำยากำจัดแมลงและทำปุ๋ยพร้อมกับนำน้ำยาที่ได้กลับไปเป็นตัวอย่างในการผลิตครั้งต่อไปด้วย


หลังจากนั้น เดินทางไปต่อที่ ฟาร์มโคนม ไทย – เดนมาร์ค อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ไปศึกษา อาชีพโคนม อาชีพพระราชทานที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยมายาวนานและยั่งยืน ดูการสาธิตและลงมือทำเรื่องการทำปุ๋ยจากนมเพื่อเป็นอาหารในการปลูกพืชและเกษตรกรรมต่างๆ การรีดนมวัวและการให้นมวัว

กิจกรรมที่ได้รับความสนใจมาก คือกิจกรรมปล่อยการปลาบึก จำนวน 109 ตัว ลงในเขื่อนลำตะคอง น้ำหนักของปลาบึกแต่ละตัวหนักไม่น้อยกว่า 30 กิโลกรัม นับเป็นการสร้างบุญร่วมกันในการไถ่ชีวิตสัตว์ใหญ่


กิจกรรมสำคัญในการตามรอยพระราชาทุกครั้งคือ การถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หลังจากการลงพื้นที่เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติแล้ว คณะครูอาจารย์ได้ทำกิจกรรมถอดบทเรียน นำโดยอาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่าเอเอฟเอส ประเทศไทย ผ่านเกมกระดานสื่อการเรียนรู้ (Board Game) 3 แบบ ได้แก่ เครื่องมือการสร้างการเรียนรู้ “สร้างงานให้เป็นเงิน” ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “Game of Our Nation” ที่สอดแทรกคุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา “9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” ถอดบทเรียนและต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมจากกิจกรรมตามรอยพระราชา และ “The King’s Journey: Learn English an Example of an Invention” ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป

นอกจากนี้ ครู อาจารย์ ยังได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน อาทิ รศ. นพ. สุริยเดว ทรีปาตรี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้บรรยายในหัวข้อ “คุณธรรมในยุคดิจิทัล” ฝากข้อคิดให้กับ คณะครู อาจารย์ ในการสร้าง ทุนชีวิต การฝึกเบรกอารมณ์ เพื่อให้เกิดสำนึกความมีคุณธรรม พร้อมให้ปฏิบัติเพื่อให้เกิดพฤติกรรมทำดีซ้ำ ๆ และ ทิ้งท้ายด้วยคำถามที่น่าคิดว่า ในอนาคต มนุษย์จะมีอะไรดีกว่าหุ่นยนต์ ?

โดย ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด และประธานมูลนิธิธรรมดี ได้บรรยายในหัวข้อ “ถอดรหัสพระอัจฉริยภาพในหลวงรัชกาลที่ 9” โดยกล่าวว่า โครงการ 4,800 กว่าโครงการของในหลวง นั้นคือเส้นทางเดียวกันกับ เป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ UNSDGs ในหลวงท่านทรงคิด ทรงทำมาอย่างต่อเนื่องเพื่อประชาชนของพระองค์ และได้ขมวดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้อย่างน่าสนใจและเข้าใจได้ง่ายขึ้น

โดยให้มองในภาพรวมของ “ระบบนิเวศน์ของเศรษฐกิจพอเพียง” ว่าเป็นทางสายกลาง มีความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน มีความรอบรู้ รอบคอบ มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน มีสติ มีปัญญา การแบ่งปัน ที่เราต้องใช้ต้องอยู่ในระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม อย่างสมดุล และพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมเน้นย้ำว่า หน้าที่ในการ สืบสาน รักษา ต่อยอด เป็นหน้าที่ของคนไทยเราทุกคน ที่จะช่วยกันรักษาผืนแผ่นดิน ดั่งที่ ดร สุเมธ ตันติเวชกุล ได้เคยกล่าวไว้ว่าเราต้อง รักษาสิ่งที่ธรรมชาติให้มา คือ “ดิน” “น้ำ” “ลม” “ไฟ” สิ่งที่พระองค์ท่านในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงฝากไว้คือ “ความยั่งยืน”

คุณวิภา ลัคนาพรวิสิฐ ผู้อำนวยการ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม ให้ความเห็นว่า ได้เข้าร่วมโครงการนี้มาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งได้จุดประกายให้ทางทีมคุรุสภาเกิดแรงบันดาลใจ ต่อยอด คิดโครงการเพื่อการพัฒนาครู อาจารย์ และบุคคลที่เกี่ยวข้องในวงการการศึกษา ได้เข้ามารับรู้และเข้าใจถึงความสำคัญ และครั้งนี้ได้นำเจ้าหน้าที่ของคุรุสภา มาร่วมด้วยเพื่อให้ได้สัมผัสถึงความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและคุณธรรมในการดำเนินชีวิตและการทำงาน เพื่อจะได้นำไปจัดทำโครงการ ส่งเสริมพัฒนาวิชาชีพครู พัฒนาจรรยาบรรณวิชาชีพ สร้างการยอมรับ เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นครู มาเป็น โค้ช เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนได้

โดยสรุป จากความเห็นของคณะครู อาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการทิพย สืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 14 นี้ ต่างรู้สึกประทับใจ อิ่มเอมใจ เข้าใจ และรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 และเปิดวิสัยทัศน์ให้เข้าใจถึงความหมายของคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ได้มากขึ้น และทำให้รู้ว่า การเริ่มต้นทำ ไม่ได้อยู่ไกลเลย เพียงแต่มองเข้ามาที่ตัวของเรา และเริ่มต้นที่ “ตัวเอง” ก่อนนำไปขยายผลสู่คนอื่น
สุดท้าย คุณวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “ครูที่ดีเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน” พร้อมฝากความหวังไว้ครูอาจารย์ทุกท่านที่โชคดี ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมที่ดีนี้ ให้สามารถนำไปสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้วิถีใหม่ในสถาบันการศึกษา ชุมชน และครอบครัวได้ และขอให้มีกำลังใจ มีความเข้มแข็ง มีความกล้า เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเด็ก เยาวชนเพื่อความเจริญของชาติบ้านเมืองต่อไป

การเดินทางสู่ “ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว” โครงการ ทิพย สืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา น่าจะเป็นคำตอบ ที่หลายคนถามว่า จะทำอย่างไรเพื่อที่จะเดินไปถึงจุดนั้นได้ ?


กิจกรรม ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 15 จะจัดขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2565 โดยจะทำการคัดเลือกครู อาจารย์ เข้าร่วม ฟื้นฟูสภาพป่า แหล่งน้ำ ป่าอยู่ได้ คนก็อยู่รอด “พออยู่ พอกิน” ปลูกป่าในใจคน สร้างบ้านให้เนื้อทราย ลงพื้นที่ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี
หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจร่วมเรียนรู้นวัตกรรมศาสตร์พระราชา สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิธรรมดี เว็บไซต์ http://www.do-d-foundation.com แฟนเพจ: ตามรอยพระราชา-The King’s Journey Facebook: มูลนิธิธรรมดี และ LINE Official: @dfoundation