ไม่มีหมวดหมู่ » ทำความเข้าใจกับ “อาการแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19”

ทำความเข้าใจกับ “อาการแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19”

2 พฤษภาคม 2021
437   0

ขณะที่เส้นกราฟแสดงตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงพุ่งทยานและขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ อย่างน่าเป็นกังวล วัคซีนดูจะความหวังเดียวที่จะหยุดสถานการณ์วิกฤตในครั้งนี้ ข่าวของการพบผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน ยิ่งสร้างความไม่สบายใจกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ ล่าสุดผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนสะสมทั้งหมดนับตั้งแต่มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกวันที่ 28 กุมภาพันธ์จนถึงวันที่ 26 เมษายน 2564 ทั้งหมด 1,149,666 โดส โดยมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 972,204 ราย ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มีจำนวน 177,462 ราย

อะไรคือผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ?

การแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นอย่างไร ? มีความรุนแรงแค่ไหน? อย่างไร ?

1 ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล.jpg

ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายถึงอาการแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในรายการ “คุยข่าวเม้าท์กับหมอ” ใน RAMA Channel ขับเคลื่อนสังคมไทยให้สุขภาพดี ว่า อาการข้างเคียงหรือผลข้างเคียง (side effects) หลังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นหนึ่งใน “กลุ่มอาการไม่พึงประสงค์หลังการรับวัคซีน” ที่เจ้าหน้าที่จะเฝ้าระวังผู้รับบริการภายใน 30 นาทีหลังฉีดวัคซีน เพื่อที่จะสามารถดูแลให้การแก้ไขได้ทันท่วงที

คำว่า “อาการไม่พึงประสงค์หลังการรับวัคซีน” หรือที่เรียกว่า AEFI (Adverse Events Following Immunization) หมายถึงเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการได้รับวัคซีนก็ได้ เช่น ในบางคนอาจจะวิตกกังวลกับการฉีดวัคซีนมากจนเป็นลม หรือบางคนหลังจากฉีดวัคซีน 3-4 นาทีแรกไม่เป็นอะไร พอเดินออกนอกโรงพยาบาลตกท่อ เหล่านี้ในเบื้องต้นจะนับรวมอยู่ใน “อาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีน” โดยข้อมูลเหล่านี้จะส่งต่อให้คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอีกครั้ง เพราะการเดินตกท่ออาจมีสาเหตุมาจากอาการเวียนศีรษะซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนก็เป็นได้” ศ. พญ.ศศิโสภิณ กล่าว

แล้ว “อาการแพ้วัคซีน” เป็นอย่างไร ?

ต้องย้อนกลับไปที่ “เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์” ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอาการ คือ 1. อาการข้างเคียงหรือผลข้างเคียง (side effects) หมายถึงเหตุการณ์ที่คาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้น เช่น บริเวณที่ฉีดวัคซีนเกิดการปวด บวม แดงร้อน และอาการตามระบบอื่น ๆ เช่น เป็นไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อย ใจสั่น หมดแรง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง และเวียนศีรษะ โดยอาการเหล่านี้จะเกิดเพียง 1-2 วันหลังได้รับวัคซีน และมักเป็นไม่รุนแรง ผู้ที่มีอาการข้างเคียงเหล่านี้สามารถให้ฉีดวัคซีนเข็มต่อไปได้

2. การแพ้วัคซีนหรือส่วนประกอบของวัคซีน (hypersensitivity reaction) การแพ้เกิดได้หลายรูปแบบและมีอาการตั้งแต่น้อยไปมาก ซึ่งอาการแพ้รุนแรงมากเรียกว่า “แอนาฟิแล็กซิส” (anaphylaxis) จะเกิดภายใน 30 นาทีหลังได้รับวัคซีน เป็นเหตุผลที่หลังฉีดวัคซีนแล้วจะให้ดูอาการ 30 นาที เพราะเกรงว่าจะเกิดการแพ้อย่างรุนแรงนี้ ซึ่งเป็น “ข้อห้ามในการรับวัคซีนชนิดเดิมในครั้งต่อไป”

อาการของการแพ้วัคซีนหรือแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนที่เป็นข้อห้ามในการให้วัคซีนเข็มที่ 2 ชนิดเดิม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม A และ B โดยกลุ่ม A จะมีอาการ 4 ระบบ ดังต่อไปนี้

1. อาการทางผิวหนังหรือเยื่อบุ เช่น เป็นผื่นแดง โดยเฉพาะผื่นลมพิษทั่วตัว หรือมีอาการบวมของปาก ลิ้น และเพดานอ่อน
2. อาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล เสียงแหบ หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีดจากหลอดลมที่ตีบตัน เสียงฮื้ดตอนหายใจเข้า ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง
3. ความดันเลือดลดลงหรือมีการทำงานของระบบต่าง ๆ ล้มเหลว เช่น เป็นลม อุจจาระ ปัสสาวะราด
4. อาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน

ถ้ามีอาการ 2 ใน 4 ระบบนี้ และเกิดขึ้นภายในเวลา 30 นาที ถือว่าเป็นอาการแพ้รุนแรงที่เรียกว่า “แอนาฟิแล็กซิส” ผู้ที่มีประวัติการแพ้ดังกล่าว อาจพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ครั้งต่อไปด้วยวัคซีนคนละบริษัทหรือคนละแบบที่ไม่มีส่วนผสมที่เหมือนกัน เช่น ถ้าฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นของบริษัท ซิโนแวค เข็มที่ 2 จะเปลี่ยนเป็นของบริษัท แอสตร้า เซนเนก้า โดยการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้ฉีดตามวันที่กำหนดนัดหมายเดิมของวัคซีนเข็มที่ 2 และสามารถนับต่อเป็นเข็มที่ 2 ได้เลย

ส่วนกลุ่ม B คือที่มีอาการแพ้แต่อาจจะไม่ตรงตามอาการทั้ง 4 ระบบที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะส่งข้อมูลให้คณะผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้พิจารณา

ต่อคำถามที่ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่อาการแพ้แบบรุนแรงจะเกิดขึ้นหลังจากผ่านพ้น 30 นาทีแรกหลังจากรับวัคซีน ศ. พญ.ศศิโสภิณ บอกว่า เป็นไปได้ แต่เกิดขึ้นน้อย โดยตัวเลขของประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่มีอาการแพ้แบบรุนแรงจะเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีหลังการฉีดวัคซีน ฉะนั้น แนะนำว่าผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนควรดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” เพื่อว่าเมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เจ้าหน้าที่จะทราบเรื่องและดำเนินการแก้ไขต่อไป

สำหรับคนที่มีประวัติเคยแพ้ยา ไม่ว่าจะเป็นแพ้ยาปฏิชีวนะ แพ้เพนนิซิลินหรือแพ้อาหารทะเล แต่เป็นการแพ้ที่ไม่รุนแรง แค่เป็นผื่นคันเล็กน้อย สามารถรับวัคซีนได้ แต่ถ้ายังกังวลสามารถกินยากลุ่มต้านฮีสทามีนที่ไม่มีผลข้างเคียงง่วงนอนก่อนฉีดวัคซีน 30 นาที

ส่วนกรณีที่เคยแพ้ยาหรืออาการอย่างรุนแรงมาก่อน ซึ่งในความเป็นจริง ศ. พญ.ศศิโสภิณย้ำว่า การแพ้เหล่านี้ไม่สัมพันธ์กับการแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่อย่างใด สามารถรับวัคซีนได้ สามารถกินยากลุ่มต้านฮีสทามีนที่ไม่มีผลข้างเคียงง่วงนอนก่อนฉีดวัคซีน 30 นาที และให้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าเคยมีอาการแพ้ยาหรืออาหารมาก่อน เพื่อเจ้าหน้าที่จะเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วง 30 นาทีหลังการฉีดวัคซีน.